ทางหลวง ลั่นปีนี้เปิดซิ่ง 120 กม.ต่อชม. ประเดิมเฟสแรก เฉพาะระยะทาง 50 กม.ช่วงบางปะอิน เชื่อมกับสายเอเชีย เตรียมทุ่มงบ 600 ล้านบาท อัพเกรดถนนทั้งเส้น ไม่มีทางกลับรถพื้นราบอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการเปิดให้รถสามารถทำความเร็วได้ 120 กม./ชม. สำหรับถนนที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่า ภายในปีนี้จะเริ่มนำร่องเปิดให้รถยนต์สามารถใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เฉพาะช่องทางขวาสุด เริ่มเฟสแรกบนถนนทางหลวงหมายเลข 32 บางปะอิน-นครสวรรค์ เฉพาะระยะทาง 50 กิโลเมตรก่อน โดยเริ่มต้นจากกิโลเมตรที่ 2-51 ช่วงบางปะอินเชื่อมกับสายเอเชีย และในปี 64 จะเปิดให้ใช้ความเร็วได้เพิ่มเติมอีก 100 กิโลเมตรที่เหลือ รวมเป็นครบตลอดเส้นทางรวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 150 กิโลเมตร เนื่องจากทางช่วงเฟส 2 จะต้องมีการปรับปรุงสภาพทาง จุดกลับรถ และอุปกรณ์ป้องกันอันตราย
“กรมทางหลวงจะต้องของบประมาณปี 63 และ 64 รวมประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปปรับปรุงสภาพถนนเส้นดังกล่าวให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ก่อนที่จะเปิดให้ใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. โดยจะต้องปรับปรุงจุดกลับรถ 44 แห่ง ก่อสร้างทางลอดกลับรถเพิ่มเติม 3 แห่ง สร้างสะพานกลับรถ และติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ซึ่งในอนาคตถนนเส้นนี้จะไม่มีทางกลับรถพื้นราบอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยและอุบัติเหตุลดลง”
ทั้งนี้ในปี 64 มีแผนเร่งขยายจำนวนถนนที่สามารถใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. เพิ่มเติมอีกจำนวน 4 เส้นทาง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สุขุมวิท) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม)
ส่วนทางหลวงหมายเลข 36 (ระยอง) จากการศึกษาพบว่าไม่สามารถปรับให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ได้ โดยอยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการออกประกาศกฎกระทรวง ภายใต้พ.ร.บ.ทางหลวง เพื่อกำหนดอัตราความเร็ว 120 กม./ชม. ช่องขวาสุด เพื่อบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บสถิติความเร็วรถยนต์บนถนน 4 ช่องจราจรของกรมทางหลวง พบว่า รถยนต์ 60% มีการใช้ความเร็วเกินกว่า 90 กม./ชม. ซึ่งเกินกว่าความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้มีการปรับเพิ่มความเร็วรถช่องทางขวาสุด บนถนนที่มีช่องจราจรมากกว่า 4 ช่องขึ้นไป เพื่อเร่งระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น.