การพัฒนาต่อยอด “พืชผักผลไม้” หรือสินค้าเกษตร ให้มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าแค่การขายในรูปแบบผลสด หรือแปรรูปในรูปแบบเบื้องต้น คงเป็นเรื่องที่ทุกคนในประเทศอยากให้เกิดขึ้น
แต่การจะทำให้สำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่าง สู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีความพร้อมในหลายด้านทั้งห้องแล็บเพื่อทำวิจัย ทีมงานที่มีศักยภาพ ที่สำคัญคือเงินทุนเพื่อทำการวิจัยต่อยอด
ซึ่งแต่ละงานวิจัยอาจใช้เวลาวิจัย วิเคราะห์ที่ต่างกัน บางงานวิจัยอาจทำอยู่หลายปี เป็น 10 ปี กว่าจะสำเร็จก็มีให้เห็น ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องใช้เงินทุนที่มากพอสมควร เป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายงานวิจัยต้องพับโครงการไป
สัปดาห์นี้ Business On My Way ขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก “ผศ.ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์” ผู้อยู่เบื้องหลังในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “P80” เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ สารสกัดเข้มข้นจากลำไย 100% ที่วันนี้ สามารถทำยอดขายทะลุ 1,000 ล้านบาท ไปแล้ว
ผศ.ดร.ชรินทร์ เล่าว่า ปัจจุบันตนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสกัดลำไย
ภายใต้ข้อตกลงร่วมภาครัฐ และเอกชน บริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ P80 บริษัทในเครือพีเอ็มกรุ๊ป
ซึ่งงานวิจัยสารสกัดเข้มข้นจากลำไยนี้ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้เวลาวิจัยมานานพอสมควร กระทั่งได้ผลวิจัยที่มีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์ จึงเริ่มออกหาผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกปฏิเสธ กระทั่งไปเจอ “คุณประยุทธ์ มหากิจศิริ” จึงได้นำเสนองานวิจัย ซึ่งท่านก็ใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักใหญ่ มีการนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้ เพื่อเก็บข้อมูล และในที่สุดก็ตัดสินใจผนึกกำลังร่วมกัน
“ปัญหาที่งานวิจัยไม่สามารถต่อยอดสำเร็จ เพราะมีช่องว่างอยู่ หรือที่เรียกกันว่าหุบเขาแห่งความตาย คือกราฟจะไปตกระหว่างช่วงต่อภูเขา เหมือนขาดสะพานเชื่อม ซึ่งสะพานเชื่อมจุดนี้ก็เปรียบได้กับภาคเอกชน ที่มองเห็นความสำคัญก็จะมาเชื่อมจุดนี้”
ผศ.ดร.ชรินทร์ เล่าว่า ตัวอย่างเช่น ผมทำการวิจัยในห้องแล็บได้ผลดี สามารถวัดผลได้ แต่จากนั้นต้องการขยายขนาดการวิจัย ก็ต้องการเงินเพื่อมาลงทุนเพิ่ม อาทิ 500 ล้านบาท ซึ่งบางครั้งภาครัฐก็คงไม่สามารถเอาเงินมาทุ่มขนาดนี้ให้ได้เลย เพราะ 500 ล้านบาท ภาครัฐเขาก็สามารถเอาไปกระจายเป็นโครงการต่างๆได้มากมาย
ในส่วนภาคเอกชนบางแหล่งก็ไม่กล้าที่จะสนับสนุน เพราะไม่รู้ว่าลงทุนลงเงินไปแล้ว ผลวิจัยที่ออกมาจะสำเร็จหรือเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และจะคุ้มค่ากับเงินที่ลงไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งในจุดนี้ส่วนตัวมองว่าทางแก้ไขคือ เราต้องทำให้ผลวิจัยออกมาเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีผลวิจัยมารองรับ ก็มีส่วนช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
“การทำอะไรให้ออกมาสำเร็จ เบื้องหน้าคนอาจมองดูว่าดูง่ายไม่น่ามีอะไรยุ่งยาก แต่แท้ที่จริงเบื้องหลังกว่าจะออกมาแบบนี้ได้ ต้องผ่านขบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยคิดไว้ตอนแรกคืออยากช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเหตุจากผลผลิตลำไยล้นตลาด ซึ่งผลที่ออกมาก็เหมือนการนำงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง”
ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็มีงานวิจัยทำมารูปแบบนี้อยู่ต่อเนื่อง แต่ที่ลงทุนเยอะที่สุดคือการร่วมมือพัฒนา P80 มีการลงทุนตั้งโรงงานพัฒนาที่จังหวัดลำพูน โดยมีแผนจะเปิด 5 โรงงาน ซึ่งขณะนี้มี 1 โรงงาน
ปัจจุบันปริมาณลำไยที่ออกมาในไทยอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นลำไยขายแบบสด 50,000 ตันต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 150,000 ตัน ก็จะไปทำการแปรรูปต่างๆ อาทิ อบแห้ง ซึ่งในจุดนี้เกษตรกรจะไม่ใช่ผู้กำหนดราคาเองได้ จะเป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางกำหนด โดยจากปัญหาจุดนี้หลังมีโรงงาน P80 ก็ทำให้เกษตรกรมีความสุข เพราะโรงงานรับซื้อหมดไม่ว่าจะเป็นลำไยไซส์ไหน
ผศ.ดร.ชรินทร์ เล่าว่า สำหรับสูตรสารสกัดลำไยถือเป็นความลับ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ยังไม่มีใครพัฒนาและผลิตได้ในโลกนี้ ที่ได้ทั้งองค์ประกอบและสรรพคุณด้านดีครบถ้วนทุกอย่าง ทานแล้วมีแต่ด้านดี ซึ่งประเทศไทยเราสามารถทำได้สำเร็จ
โดยสารสกัดที่สกัดได้นั้น สามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนให้หลับสบาย ช่วยลดระดับความดันโลหิตและสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมีส่วนช่วยในเรื่องข้อเข่าและข้อต่อ.