เชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดต่อเป็นเดือนที่ 8 "ปลดคน" ทำแรงงานใจแป้วไม่ใช้จ่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดต่อเป็นเดือนที่ 8 "ปลดคน" ทำแรงงานใจแป้วไม่ใช้จ่าย

Date Time: 8 พ.ย. 2562 07:40 น.

Summary

  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.62 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลงทุกรายการต่อเนื่อง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.62 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค.อยู่ที่ 70.7 ลดจาก 72.2 ในเดือน ก.ย.62 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 46.5 ต่ำสุดในรอบ 217 เดือน หรือ 18 ปี 1 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 81.3 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 57.9 ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ดัชนีความเชื่อมั่นด้านโอกาสในการหางานอยู่ที่ 67 ดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 87.3

สำหรับปัจจัยลบที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง มาจากความกังวลกรณีที่สหรัฐฯประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย สำนักงานเศรษฐกิจ (สศค.) ปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 62 ลงเหลือ 2.8% ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังทรงตัวในระดับต่ำ กำลังซื้อต่างจังหวัดยังไม่ขยายตัวมากนัก ความกังวลสงครามการค้า และปัญหาการถอนตัวของสหราช อาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต), ความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ส่วนการปลดแรงงานส่งผลทางจิตวิทยาแก่ผู้บริโภคอย่างมาก โดยเฉพาะขวัญกำลังใจในการใช้จ่าย แต่ยังไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวมมากนัก

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาขณะนี้ เห็นว่า เม็ดเงินยังคงเข้าระบบไม่เต็มที่ แม้ว่าจะมีเงินโอนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการชิม ช้อป ใช้ และเงินการประกันรายได้สู่เกษตรกรและประชาชน โดยต้องติดตามในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อผ่านโครงการต่างๆ ที่จะใช้เงินมากกว่า 25,000-30,000 ล้านบาท จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ส่วนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.4-3.5% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.8% แต่หากมาตรการต่างๆของภาครัฐยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวไม่เกิน 3%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ