คาบลูกคาบดอก : มองวิกฤติให้เป็นโอกาสจริงหรือ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คาบลูกคาบดอก : มองวิกฤติให้เป็นโอกาสจริงหรือ

Date Time: 6 พ.ย. 2562 05:01 น.

Summary

  • การที่สหรัฐฯประกาศใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมาเป็นอาวุธทางการค้า ใน สงครามการค้าโลก ที่แม้แต่ ประเทศไทย ซึ่งเป็น ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มานาน ยังหนีไม่รอดการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพี

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

การที่สหรัฐฯประกาศใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมาเป็นอาวุธทางการค้า ในสงครามการค้าโลก ที่แม้แต่ประเทศไทย ซึ่งเป็น ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มานาน ยังหนีไม่รอดการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือจีเอสพี พร้อมทวงถามความคืบหน้าของการส่งออก เนื้อหมูและเครื่องในหมู เข้าประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นแน่นอน

การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือ ให้มองวิกฤติเป็นโอกาส อ้างมีเวลาในการเจรจาเพื่อขอสิทธิทางการค้าคืนกลับมาภายใต้กรอบการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ และหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม การใช้ประโยชน์จากการทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิทางการค้าจากสหรัฐฯ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

พูดได้แต่ทำยาก

ทำให้ภาพที่ปรากฏออกมา ในส่วนของภาครัฐ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมหมูในประเทศ ที่ สหรัฐฯ กดดันให้มีการนำเข้าหมูและเครื่องในหมูซึ่งปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง

ที่ผ่านมาการป้องกันโรค ASF ในหมูควรจะยกให้เป็นวาระแห่งชาติเพราะเป็นโรคระบาดในหมูที่ระบาดไปทั่วภูมิภาคนี้ มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมหมูเกือบทุกประเทศ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร กลายเป็นว่าเอกชนต้องร่วมมือกันเองป้องกันโรคระบาดดังกล่าวจนสามารถป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านจนเป็นผลสำเร็จ

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ปลอดจากโรค ASF

เรื่องนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเริ่มมีการเคลื่อนไหว ต่อท่าทีของรัฐบาลไทยกับการถูกตัดจีเอสพี และการเจรจาต่อรองสิทธิทางการค้ากับสหรัฐฯ จะเกิดช่องให้มีการนำหมูและเครื่องในหมูเข้าประเทศหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรภาคอื่นๆอย่างเต็มที่ แต่กับ อุตสาหกรรมหมู เกษตรกรไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ทั้งๆที่เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมหมูที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกซึ่งเป็นนาทีทองของอุตสาหกรรมหมูไทยด้วยซ้ำ

การสร้างความมั่นใจของผู้บริโภคเป็นโอกาสเดียวที่ จะสร้างภาพลักษณ์ในการบริโภค ให้กับสินค้าการเกษตรของไทยที่มีทั้งคุณภาพและความปลอดภัย

แต่น่าแปลกใจ รัฐบาลไม่ได้ใช้โอกาสนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณหรือการควบคุมป้องกันการระบาดของ ASF ในหมูอย่างเต็มที่ นอกจากจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงหมูกว่า 2 แสนรายแล้ว ยังจะลดความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก สร้าง ครัวไทย ให้เป็นครัวโลก ถือว่ามาถูกทาง นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จได้ ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญเป็นวาระของชาติอย่างครบวงจร

ศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางอาหารโลก ไม่ใช่เรื่อง ยากเย็นอะไร แต่การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารหรือครัวโลกในสายตาต่างชาติด้วยความยั่งยืนถาวร ทั้งเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย

ไม่ใช่เรื่องง่าย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ