สรรพสามิตเร่งสรุปเก็บภาษีความเค็มปีนี้ หวังลดเสี่ยงโรคไต-ความดัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สรรพสามิตเร่งสรุปเก็บภาษีความเค็มปีนี้ หวังลดเสี่ยงโรคไต-ความดัน

Date Time: 21 ต.ค. 2562 07:40 น.

Summary

  • สรรพสามิตเผยคนไทยยังกินเค็ม 1 มื้อ โซเดียมพุ่งถึง 1,000 มิลลิกรัม เกินมาตรฐาน WHO พร้อมเร่งหารือสาธารณสุข-อย.สรุปเกณฑ์จัดเก็บภาษีความเค็มปีนี้ ผลักดันผู้ประกอบการไทยปรับลดโซเดียมในสินค้า

Latest

“ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค” เตรียมเปิดอย่างเป็นทางการ ปี 2568 ฝ่า Mixed-use ครองเมือง ชูคอนโดฯสูง TOP 5

สรรพสามิตเผยคนไทยยังกินเค็ม 1 มื้อ โซเดียมพุ่งถึง 1,000 มิลลิกรัม เกินมาตรฐาน WHO พร้อมเร่งหารือสาธารณสุข-อย.สรุปเกณฑ์จัดเก็บภาษีความเค็มปีนี้ ผลักดันผู้ประกอบการไทยปรับลดโซเดียมในสินค้า 20-30% ลดความเสี่ยงเกิดโรคไต-ความดัน 40%

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเอกชน เบื้องต้นกำหนดเก็บภาษีความเค็มจากปริมาณโซเดียม (เกลือ) ที่ใช้ปรุงรสชาติ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะรสเผ็ด ขนมขบเคี้ยว ผงปรุงรส เป็นต้น ส่วนน้ำปลา ซีอิ๊วจะไม่ถูกจัดเก็บภาษี เพราะถือเป็นเครื่องปรุงรส โดยจะเร่งสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มให้ชัดเจนภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้เกณฑ์ใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,400 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่าโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก.ต่อวันเท่านั้น ซึ่งถ้าอิงตาม WHO ใน 1 วัน ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 600 มก. ต่อมื้อ แต่ปัจจุบันคนไทยได้รับค่าโซเดียมเกินกว่า ที่ WHO กำหนด โดยได้รับโซเดียมถึงมื้อละ 1,000 มก. “อาหารและเครื่องดื่มในไทยส่วนมาก มีค่า ความเค็มเกินมาตรฐาน สมมติถ้ามีอาหาร 100 ถุง ในจำนวนนี้จะมีค่าโซเดียมเกินกว่าที่ WHO ตั้งไว้กว่า 60% หรือ 60 ถุงแน่นอน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บ ภาษีความเค็มรัฐบาลไม่ได้มุ่งเรื่องรายได้ แต่อยากให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียม เพื่อให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งนี้ WHO ระบุว่า แค่ลดปริมาณโซเดียมในอาหารลง 20-30% ก็ลดปริมาณความเสี่ยงจากการเป็นโรค เช่น ไตวาย ความดัน เป็นต้น ได้ถึง 30-40%”

สำหรับโซเดียมที่นิยมใช้ปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.โซเดียมที่ใช้ยืดระยะเวลาอาหารและสินค้า เช่น การถนอมอาหาร เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน 2.โซเดียมที่ใช้ปรุงรสชาติ 80% ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีที่ใช้ปรุงรสชาติที่ทำให้เกิดความเค็มเท่านั้น เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ลงในอาหารหรือสินค้าก็ได้ ส่วนการถนอมอาหารจะไม่มีการเก็บภาษี เพราะ ใช้โซเดียมปริมาณน้อย

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตกำลังหารือทาง อย.เพราะฉลากทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) ที่ อย.ผลิตออกมานั้น วัดค่าความเค็มจากค่าเฉลี่ยโดยรวมของสินค้า โดยไม่ได้อิงมาตรฐานของ WHO เนื่องจากยังคำนึงถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมอยู่ “หากจัดเก็บภาษีความเค็มต้องให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปีก่อน โดยสรรพสามิตต้องหาแนวทางจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหารและสินค้าให้มีค่าความเค็มลดลง โดยที่ไม่กระทบกับขีดความสามารถการแข่งขัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ