"ศักดิ์สยาม" ลั่น ซีพีเซ็นสัญญาไฮสปีดแน่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ศักดิ์สยาม" ลั่น ซีพีเซ็นสัญญาไฮสปีดแน่

Date Time: 11 ต.ค. 2562 05:35 น.

Summary

  • นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) ซึ่งเป็นโครงการหลักของอีอีซีแล้ว

โดยแผนดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ พื้นที่ระหว่างสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่งมอบได้ทันที ส่วนช่วงรถไฟความเร็วสูงช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน และสถานีพญาไท-ดอนเมืองจะส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า หลังลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับเอกชนแล้ว แผนก่อสร้างจะแล้วเสร็จใน 5 ปี โดยในส่วนสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เปิดให้บริการในปี 66/67 ส่วน สถานีพญาไท-ดอนเมือง เปิดให้บริการในปี 67/68 สำหรับพื้นที่ยุ่งยากในการส่งมอบ คือช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง เนื่องจากต้องทำการรื้อถอนและย้ายสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง ย้ายท่อน้ำมัน ย้ายเสาโทรเลข ย้ายเสาไฟลงใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งจะต้องไปดูว่าใช้งบเท่าใด เจ้าของพื้นที่ออกเองได้หรือไม่ ถ้าไม่มีงบรัฐบาลจะจัดหาให้ นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีจุดตัดกว่า 230 จุดใน 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน ที่ต้องปรับหรือโยกย้าย หากให้เอกชนเจรจาเองโดยรัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะทำให้ล่าช้า

นอกจากนั้น สกพอ.ยังได้จับมือ 7 หน่วยงาน เปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จอำนวยความสะดวกนักลงทุนยื่นคำขออนุมัติ อนุญาต ผ่านระบบออนไลน์ขอประกอบกิจการโรงงานเหลือ 78 วันจากเดิม 150 วัน และลดขั้นตอนดำเนินงาน จากเดิม 60 รายการ เหลือเพียง 42 รายการ หากสำเร็จพร้อมลุยเฟส 2 ทันที

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องการส่งมอบพื้นที่มีความพร้อมถึง 72% หรือมากกว่าครึ่งของโครงการแล้ว คาดว่าจะลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรหรือกลุ่มซีพีที่ชนะประมูลได้ในวันที่ 25 ต.ค.แน่นอน และหลังจากลงนามเสร็จสิ้นจะดำเนินการก่อสร้างตามแผนภายใน 5 ปี

ส่วนเรื่องรายชื่อบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) หรือบอร์ด รฟท. ได้เสนอไปให้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาแล้ว ซึ่งถ้านายกฯ เห็นชอบส่งกลับมาที่คมนาคม ก็จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นบอร์ด รฟท.จะประชุมเพื่อรับทราบผลในการลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อที่คมนาคมจะเสนอเรื่องนี้ไป ครม.ในวันที่ 22 ต.ค.

โดยเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ได้ส่งหนังสือไปให้กลุ่มซีพีเพื่อให้มาลงนามในสัญญาวันที่ 25 ต.ค.แล้ว และเท่าที่หารือกับนอกรอบระหว่างสำนักงานอีอีซีกับเอกชน ทางเอกชนยืนยันจะมาลงนามในสัญญาในวันดังกล่าวแน่นอน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ