นายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือน ต.ค. 2562 ว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือโต 2.7 % จากเดิมโต 3.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในประเทศกำลังพัฒนาภูมิภาคอาเซียน
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะโตลดลงเหลือ 2.9% จากเดิม 3.6% สืบเนื่องจากการส่งออกที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่าตลอดปีจะหดตัว 5.3% นอกจากนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งกระทบกับรายได้เกษตรกรที่ลดลง ทำให้การบริโภคในประเทศอ่อนแอ ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐต่ำมีผลให้การบริโภคภาครัฐขยายตัวเพียง 1.7% ในปีนี้
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ที่ออกมาถือว่ามาทันเวลา เพราะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งรัฐบาลยังสามารถจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้อีก เพราะหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยควรเน้นมาตรการที่เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค ความล่าช้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค ซึ่งกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้การส่งออกไทยอ่อนแอลงไปอีกและบั่นทอนการลงทุนเอกชน รวมทั้งเงินบาทของไทยที่แข็งค่าต่อไป หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในการประชุมนักวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการพบนักวิเคราะห์ทุก 3 เดือน หลังการปรับประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดย ธปท.ลดการประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.8% แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย หรือประสบภาวะวิกฤติ เพราะยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง.