ชิมช้อปใช้เฟส 1 วุ่นไม่จบ คลังดันเฟส 2 ต่อ โพลไม่เห็นด้วย-ไล่ให้เลิก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชิมช้อปใช้เฟส 1 วุ่นไม่จบ คลังดันเฟส 2 ต่อ โพลไม่เห็นด้วย-ไล่ให้เลิก

Date Time: 7 ต.ค. 2562 05:25 น.

Summary

  • คลังปลื้มคนแห่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟสแรกครบ 10 ล้านคน เรียบร้อย แต่ยังเปิดให้ลงทะเบียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน ระบุมีแค่ 4 ล้านกว่าคน ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ

Latest

อ่านเกม กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขาลง จับตาหนี้ครัวเรือน - สินเชื่อหดตัว “จุดเปลี่ยน”

คลังปลื้มคนแห่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟสแรกครบ 10 ล้านคน เรียบร้อย แต่ยังเปิดให้ลงทะเบียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน ระบุมีแค่ 4 ล้านกว่าคน ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ แต่สัปดาห์แรกมีผู้มาใช้จ่ายเพียง 1.25 ล้านคน พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง สรุปแนวทาง “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ก่อนชง ครม. 15 ต.ค.นี้ แต่อาจเปลี่ยนเวลาลงทะเบียนใหม่เป็นช่วงกลางวัน แย้มอาจเปิดกระเป๋าช่องที่ 3 จูงใจประชาชนควักเงินซื้อของ ขณะที่นิด้าโพลเผยผลสำรวจประชาชนเกินครึ่งไม่ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ เหตุระบบและขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ส่วนใหญ่แนะให้ปรับปรุงหรือไม่ก็ยกเลิกโครงการไปเลย

หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ชิมช้อปใช้ โดยให้ผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ชิมช้อปใช้ดอทคอม จะได้เงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” คนละ 1 พันบาท ไปใช้กับสถานประกอบการร้านค้า ที่ร่วมโครงการฯ ซึ่งเริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ตั้งเป้าผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้จำนวนครบตามเป้าหมายตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ชิมช้อปใช้ เฟส 2 ว่า ในวันที่ 7 ต.ค. กระทรวงการคลังได้นัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สศค. กรมบัญชีกลาง ธนาคารกรุงไทย เพื่อหาข้อสรุป ร่วมกันว่าจะดำเนินการชิม ช้อป ใช้ ในเฟส 2 อย่างไร โดยแนวคิดของ สศค. ต้องการกระตุ้นให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อนำเงินออกมาใช้จ่าย ซึ่งหลายคนไม่อยากไปแข่งขันลงทะเบียนรับเงินในช่วงกลางคืน แต่มีความพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินกระเป๋าช่องที่ 2 ที่เติมเงินลงไปแล้วรับเงินคืน (cash back) 15 เปอร์เซ็นต์ ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 4,500 บาท

“สศค.นำผลของมาตรการช้อปช่วยชาติที่ไม่ได้มีการแจกเงิน แต่เป็นการคืนภาษีให้มาประเมินร่วมกับการออกชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 พบว่า ช้อปช่วยชาติสามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้แม้จะไม่แจกเงิน ซึ่งในการดำเนินการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 กลุ่มเป้าหมายอาจแตกต่างจากชิม ช้อป ใช้ ในกลุ่มแรก เพราะสิ่งที่กระทรวงการคลังอยากได้คือ กระตุ้นให้ประชาชนนำเงินออกมาใช้จ่าย โดยภาครัฐจะมีแรงจูงใจเพื่อให้คนกลุ่มนี้ควักเงินออกมาใช้” ผอ.สศค.กล่าว และย้ำว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเวลาลงทะเบียนมาเป็นช่วงเวลาทำการ หรือช่วงกลางวัน แทนที่จะช่วงหลังเที่ยงคืน อย่างไรก็ตาม สศค.จะพยายามสรุป แนวทางชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ให้จบภายในสัปดาห์นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

นายลวรณกล่าวอีกว่า ผู้ที่ลงทะเบียนชิม ช้อป ใช้ ในเฟสแรก สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะมากกว่าในเฟส2 และจะขยายการใช้เงินกระเป๋า 2 ไปจนถึงสิ้นปี จากเดิมกำหนดไว้ 30 พ.ย.2562 โดยในส่วนเฟส 2 อาจไม่ใช้วิธีแจกเงิน 1 พันบาท แต่มีวิธีใหม่ เช่น เพิ่มกระเป๋าช่องที่ 3 โดยรัฐบาลอาจจะสมทบทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนควักเงินมาใช้จ่ายเป็นต้น ส่วนเรื่องการลงทะเบียน ขณะนี้ยอดลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการชิม ช้อป ใช้ ครบ 10 ล้านคนแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปสามารถลงเพิ่มเติมได้ เพราะแต่ละวันมียอดที่ลงทะเบียนไม่ผ่าน ซึ่งระบบจะคำนวณและแจ้งในหน้าเว็บไซต์ www.ชิมช้อป ใช้.com โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 13 ของการลงทะเบียน มีผู้ลงทะเบียนรอบเก็บตก ได้ 270,000 คน และวันที่ 6 ต.ค. เก็บตกได้อีก 300,000 คน ซึ่งมาจากยอดคนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ และติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตังไม่ผ่าน ดังนั้นประชาชนสามารถลงทะเบียนอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน ถึงวันที่ 15 พ.ย.2562

“ในสัปดาห์แรกมีผู้มาใช้จ่ายเพียง 1.25 ล้านคน และมีการใช้จ่ายกระเป๋าที่ 2 กว่า 4,600 คน มียอดใช้จ่ายประมาณ 13.1 ล้านบาท จากยอดที่ติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว 4.97 ล้านคน โดยยืนยันตัวตนสำเร็จกว่า 4 ล้านราย ซึ่งถือว่าไม่มาก” ผอ.สศค.กล่าว

วันเดียวกัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,261 หน่วย เกี่ยวกับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้...ถูกใจหรือไม่” เมื่อวันที่ 2-4 ต.ค.2562 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 58.37 ระบุว่าไม่ลงทะเบียน เพราะระบบและขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ลงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ โดยผู้ลงทะเบียนแล้ว และกำลังจะลงทะเบียนร้อยละ 41.52 ระบุได้ใช้และมีแผนจะใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์สโตร์ ร้อยละ 34.10 ร้านค้าทั่วไปที่เข้าโครงการ ร้อยละ 16.57 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 15.24 ร้านธงฟ้าประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 27.36 เห็นว่าเปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ร้อยละ 27.28 ระบุเป็นมาตร– การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ขณะที่ความคิดเห็นต่อภาพรวมโครงการฯ พบว่าร้อยละ 28.95 ระบุไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 25.62 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 22.60 เห็นด้วยมาก แต่ในส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการฯ พบว่า ร้อยละ 42.19 ชี้ควรปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น และร้อยละ 34.10 ระบุว่า ให้ยกเลิกโครงการ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ