ครบ 10 ล้านคนไปอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับโครงการมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 1 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปลายปี ท่ามกลาง “ดอกไม้และก้อนอิฐ” มีทั้งคำชม และคำติ ซึ่งฝากให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแก้ไข
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก รัฐแจกเงิน 1,000 บาท ให้ผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด นำเงินไปใช้จ่ายใน 3 รูปแบบ คือ
“ชิม” สำหรับการใช้ในร้านอาหารและเครื่องดื่ม
“ช้อป” สำหรับใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าทั่วไปที่ร่วมโครงการ สินค้าโอทอป วิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ
และ “ใช้” สำหรับบริการเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งแต่โรงแรม แพ็กเกจทัวร์ และค่าไกด์ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนร่วมโครงการ
เงินส่วนนี้จะอยู่ในกระเป๋าที่ 1 ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” หรือ G-Wallet นำไปใช้จ่ายได้เฉพาะในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน และต้องใช้ภายใน 14 วันหลังได้รับข้อความ SMS ยืนยันสิทธิ์
และอีกส่วน เป็น “เงินที่ได้คืนจากการใช้จ่าย” ซึ่งประชาชนจะต้องเติมเงินของตัวเองเข้าไปในกระเป๋าที่ 2 ของแอป “เป๋าตัง” โดยรัฐบาลจะคืนเงิน (แคชแบ็ก) 15% ของยอดชำระจริง สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน หรือวงเงินใช้จ่ายรวมไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนนี้จะใช้ได้หลังจากที่ได้จ่ายเงินในกระเป๋าที่ 1 ไปแล้ว ทั้งจ่ายบางส่วนและทั้งหมด โดยใช้ได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่มีทะเบียนบ้านอยู่
อย่างไรก็ตาม “ของฟรีไม่มีในโลก” รัฐบาลได้กำหนดเงื่อนไขโครงการไว้ค่อนข้างเข้มงวด สำหรับการขึ้นทะเบียนร่วมโครงการของร้านค้า ทำให้ในช่วงแรกมีร้านค้าเข้าโครงการน้อยมากจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันการให้สิทธิประโยชน์ และการใช้จ่ายผ่าน “บริการทางการเงินออนไลน์” ด้วยแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคนไทยมากกว่าครึ่งประเทศไม่เคยสัมผัส หรือใช้บริการ ประกอบกับ ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ ทั้ง ความแรงของอินเตอร์เน็ต ความทันสมัยของสมาร์ทโฟน รวมทั้งตัวแอปพลิเคชันเอง
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความยุ่งยาก” และจนถึงเวลานี้ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ เพื่อใช้สิทธิ์ชิม ช้อป ใช้ 1,000 บาทได้
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวม “ความคิดเห็น” ของประชาชน ร้านค้า และคำชี้แจง จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกรณีศึกษาของการใช้บริการการเงินออนไลน์ของประชาชน และเป็นแนวทางเตรียมความพร้อมล่วงหน้าของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านบวกหรือลบ เราคงปฏิเสธๆไม่ได้ว่า โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดโครงการหนึ่ง กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ติดเทรนด์ ทั้งสภากาแฟทุกย่าน ทุกตลาด และเทรนด์ในโลกโซเชียล
โดยตั้งแต่วันแรกมีประชาชนสนใจเต็มโควตา ส่งผลให้เว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com ไม่สามารถให้บริการได้ และตลอด 12 วันของการเปิดลงทะเบียนเต็มโควตาภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่อีกปัญหาที่ร้องเรียนมาก คือ การยืนยันตัวตนในแอป “เป๋าตัง” ที่ใช้ระบบสแกนใบหน้าเทียบกับบัตรประชาชนไม่ผ่าน จนต้องแชร์คลิปเคล็ดลับการสแกนหน้าให้ผ่านด้วยวิธีต่างๆผ่านโลกออนไลน์ ส่วนอีกหลายคนพบปัญหาไม่สามารถยืนยันสิทธิ์ได้ แม้ไปยืนยันที่สาขาของธนาคารกรุงไทย เพราะระบบให้บริการที่สาขาก็ล่มเช่นกัน
ส่วนคนที่ฝ่าฟันรอบแรกเข้าสู่รอบไฟนอล ได้รับสิทธิ์ 1,000 บาทแล้ว เข้าสู่ช่วงของการใช้จ่าย แต่เข้าสู่แอป “เป๋าตัง” ไม่ได้ หรือแม่ค้าไม่สามารถเปิดแอป “เป๋าเงิน” เพื่อทำรายการได้ หรือเข้าได้แต่จ่ายตังค์ไม่ได้ เพราะระบบค้าง ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินของตัวเองซื้อของ หรือบางรายเลือกที่จะ “ทิ้งสินค้า”
นายพสุ ณ พัทลุง เจ้าของร้าน PrinNe Melon ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ เปิดเผยว่า หลังเข้าร่วมโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” พบว่า มีทั้งลูกค้าประจำ และประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อของที่ร้านมากขึ้น ทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการจะใช้เงินผ่านแอป “เป๋าตัง” 1,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินที่รัฐบาลให้ฟรี โดยในสัปดาห์แรกของการจับจ่ายเงิน ซึ่งเริ่มวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา มีใช้เงินผ่านแอปจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี
“ปัญหาที่พบ คือ เน็ตล่ม หรือระบบแอปล่าช้า ในช่วงที่มีคนจำนวนมากเข้าใช้เพื่อจ่ายเงิน โดยเมื่อประชาชนเปิดหน้าแอปเพื่อให้ร้านค้าสแกนรับเงิน พบว่าหน้าแอปจ่ายเงินกระเป๋าเงินช่องที่ 1 ค้างนานมาก ร้านต้องสแกนหลายครั้ง ส่วนปัญหาคนที่สแกนจ่ายเงินผ่านแอปไม่ได้ มีเพียง 4-5 ราย บางคนไม่เข้าใจระบบ จึงจ่ายเงินสดแทน”
ส่วนการโอนเงินของธนาคารกรุงไทยกลับมายังร้านค้าไม่มีปัญหา และร้านค้าได้รับเงินโอนเข้าบัญชีตรงตามเวลาไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันถัดไป
นางสาวปิติมา บัวจันทร์ พนักงานบริษัท และแม่บ้าน ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ ตั้งแต่วันที่ 2 ของโครงการ ตอนนั้นยังเข้าร่วมโครงการได้ง่าย แต่วันหลังๆกดยากกว่าเดิม กดเข้าร่วมโครงการให้สามี ต้องรอตั้งแต่เที่ยงคืน กดหลายรอบเหมือนกันกว่าจะได้
ส่วนตัวมองว่า คนคิดโครงการนี้เขาฉลาดนะ เพราะให้เงินมา 1,000 บาท แต่พอออกไปเที่ยวจริงๆ ครั้งที่แล้วจ่ายไปทั้งหมด 5,500 บาท จึงมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี เวลาคนไปเที่ยวเงินก็กระจายไปถึงมือผู้ประกอบการท้องถิ่น รัฐเองก็ได้เงินคืนมาในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)
“ในมุมของคนมีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการ คงยิ่งได้ประโยชน์ อย่างน้องที่ทำงานเดียวกัน ลงทะเบียนไว้ในต่างจังหวัด ได้เงินมา 1,000 บาท ก็เอาไปซื้อของจากร้านค้าธงฟ้า ที่ไม่น่าเชื่อคือ เคยไปดูราคาของในร้านกับเขา มีแต่ของราคาถูกมากๆ น้ำยาปรับผ้านุ่มเหลือถุงละ 10 บาท หาซื้อข้างนอกไม่ได้แน่ เงินจำนวนนี้เลยช่วยเขาได้มาก”
หากรัฐทำโครงการนี้อีกก็เห็นด้วย เพราะตอนออกไปใช้เงินก็เห็นแล้วว่า จ่ายเงินไปมากกว่าที่โครงการให้เสียอีก สำหรับตัวเองเหมือนรัฐบาลเอาแครอทมาล่อลาให้งับ แล้วก็ได้ผลจริงๆเสียด้วย ตัวเองเลยต้องรีบเข้าร่วม โครงการใหม่ก็น่าจะเข้าร่วมอีกเหมือนเดิม เพราะเป็นสิทธิ์ที่ได้รับ
นายลวรณ แสงสนิท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลโครงการชิม ช้อป ใช้ ชี้แจงว่า “จากความสนใจเข้าร่วมโครงการอย่างล้นหลาม ทำให้อาจมีปัญหาขลุกขลักบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขตลอดเวลา โดยวันแรกของการลงทะเบียนมีปัญหาการเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ การดาวน์โหลดหน้าลงทะเบียนล่าช้า สาเหตุเกิดจากการรับส่งข้อมูลของอินเตอร์เน็ต (แบนด์วิดท์) รองรับการเข้าเว็บไซต์ได้เพียง 50,000 รายต่อชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรองรับกับจำนวนคนที่รอลงทะเบียนหลังเวลา 00.00 น.ได้ทั้งหมด ดังนั้นวันแรกของการลงทะเบียน ยอดคนละทะเบียนจึงครบ 1 ล้านคน เมื่อเวลา 13.45 น.”
โดยธนาคารกรุงไทยที่เป็นผู้รับผิดชอบระบบ ได้ขยายแบนด์วิดท์เพิ่มจนสามารถรองรับผู้เข้าเว็บไซต์ได้สูงสุด 200,000 รายต่อชั่วโมง ทำให้วันต่อมามีผู้ลงเบียนรับสิทธิ์เต็ม 1 ล้านราย ตั้งแต่ยังไม่ทันสว่าง
ส่วนปัญหาที่ทำให้มีคนลงทะเบียนไม่สำเร็จกว่าวันละ 200,000 ราย สาเหตุหลักเกิดจาก 1.การยืนยันตัวตน หรือกรอกรหัสยืนยัน (OTP) เกินกว่าเวลาที่กำหนด 3 นาที โดยระบบจะนับว่าทำรายการไปแล้ว แม้จะใส่ OTP ไม่สำเร็จก็ตาม 2.ข้อมูลไม่ตรงกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง 3.การใส่คำนำหน้าชื่อ ทั้งนาย นาง หรือนางสาวไม่ถูกต้อง หรือความสับสนระหว่างเลขศูนย์กับตัวอักษร O (โอ) และเลือกจังหวัดที่ไปใช้สิทธิ์ตรงกับจังหวัดทะเบียนบ้าน
ขณะที่การยืนยันตัวตนในแอป “เป๋าตัง” ผ่านการสแกนใบหน้าไม่ผ่านนั้น อาจเกิดจากการใช้แอปตกแต่งภาพ ทำให้ภาพที่ออกมาสวยเกินจริง รวมทั้งแสงที่อาจสว่างเกินไป หรือผิดตำแหน่งในขณะถ่ายภาพ ส่งผลให้ภาพที่ออกมาไม่เหมือนตัวจริง ส่วนปัญหาการเข้าแอป “เป๋าตัง” หรือแอป “เป๋าเงิน” นั้น ต้องดูว่าเปิดโลเกชันบนสมาร์ทโฟนหรือไม่ เพื่อระบุตำแหน่งว่าใช้จ่ายในจังหวัดที่ลงทะเบียนจริง และกรณีห้างโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้า มีประชาชนรอเข้าคิวจ่ายเงินจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ห้างต้องจัดการ เพราะหลังจากลงทะเบียน กรมบัญชีกลางจะให้เครื่องรับชำระเงิน 20 เครื่องต่อ 1 หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (Tax ID) ซึ่งห้างสามารถลดสาขา เพื่อเพิ่มจุดรับชำระเงินได้เอง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แอปพลิเคชันเป๋าตัง ในโครงการชิม ช้อป ใช้ ระบบปฏิบัติการอาจใช้เวลามากกว่าแอปเป๋าตังที่ผูกกับบัญชีออมทรัพย์ เนื่องจากโครงการกำหนดให้ระบบต้องตรวจสอบโลเกชันร้านค้า ว่าตรงกับจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล และป้องกันการทุจริต ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้ผู้ได้รับสิทธิ์เดินทางไปท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายเข้าสู่เศรษฐกิจฐานราก
ส่วนปัญหาแอปเป๋าตัง บางช่วงเกิดอาการหน่วง หรือทำธุรกรรมล่าช้า บางครั้งเกิดจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตช้ากว่าปกติ หรือความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง หากร้านค้าหรือผู้ใช้แอป อยู่ในพื้นที่หรือจุดที่อินเตอร์เน็ตช้า ขณะเดียวกันรุ่นและศักยภาพของสมาร์ทโฟน ก็มีผลต่อความเร็วของการใช้บริการด้วย
นอกจากนั้น หากมีจำนวนลูกค้าสะสมเข้ามาในระบบมากๆ ก็ทำให้ระบบล่าช้า หรือเกิดความหน่วงเช่นกัน และเมื่อมีลูกค้าสะสมถึงเพดานสูงสุดที่ธนาคารกำหนด ลูกค้ารายใหม่จะยังไม่สามารถเข้าระบบได้ ซึ่งหน้าจอสมาร์ทโฟนเมื่อเข้าแอปเป๋าตัง จะแสดงว่า “ไม่สามารถใช้บริการได้” ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ระบบล่ม เพียงแต่ลูกค้ารายใหม่ยังต้องรอคิวในการเข้าใช้บริการต่อจากลูกค้าที่ใช้บริการก่อนหน้า
“ธนาคารติดตามการใช้งานแอปเป๋าตัง ของชิม ช้อป ใช้ตลอดเวลา หากพบว่าประชาชนไม่สะดวกในการใช้งาน จะแก้ไขปัญหาทันที เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างไม่ติดขัด โดยธนาคารได้พัฒนาระบบงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น ในช่วงเวลา 02.00-05.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้อัปเกรดแอป เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน โดยธนาคารได้ว่าจ้างบริษัท IBM และ Accenture ผู้เชี่ยวชาญไอทีชั้นนำระดับโลก เป็นที่ปรึกษาด้านไอที โดยช่วยดูระบบตลอด 24 ชั่วโมง และวางแผนเพิ่มศักยภาพขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว”
ส่วนปัญหาการยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC ซึ่งต้องสแกนบัตรประชาชน และใช้กล้องสมาร์ทโฟนถ่ายภาพใบหน้า ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์จำนวนหนึ่งไม่ผ่าน e-KYC ทำให้ต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาของแบงก์กรุงไทยนั้น ปัญหาหลักมาจากบัตรประชาชนทำมาแล้วหลายปี หรือแต่งหน้าสวยงามตอนถ่ายบัตร เมื่อระบบเปรียบเทียบรูปปัจจุบันกับรูปในบัตรพบว่าไม่ตรงกัน ก็ปฏิเสธทันที และอีกปัญหาที่พบมากมาจากกล้องสมาร์ทโฟนบางรุ่น แสดงรูปไม่ตรงกับรูปตัวจริง รวมถึงแสงสว่างในระหว่างการถ่ายรูปที่ไม่เหมาะสม
อีกคำถามหนึ่งที่มีต่อโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” คือ ผลสำเร็จในการกระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญคือ การกระจายรายได้สู่ชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก
สศค.ได้ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียน 9 วันแรก (23 ก.ย.-1 ต.ค.62) โดยล่าสุด ณ วันที่ 4 ต.ค.62 มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 7.14 ล้านราย และมีผู้ยืนยันตัวตนผ่านแอป
“เป๋าตัง” แล้ว 4.97 ล้านราย จากจำนวน 6.34 ล้านราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 4.03 ล้านราย ส่วนอีก 940,000 ราย อยู่ระหว่างการติดตั้งและตรวจสอบข้อมูล และมีผู้ยังไม่ได้ติดตั้งแอป 1.37 ล้านราย ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จถึงวันละ 5,000 ราย
ขณะที่การใช้จ่ายช่วง 7 วันแรก (27 ก.ย.-3 ต.ค.62) มีผู้ใช้สิทธิ์ 1.25 ล้านราย ใช้จ่ายรวม 1,144 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านแอป “เป๋าตัง” ช่อง 1 ที่รัฐให้เงิน 1,000 บาท จำนวน 1,131 ล้านบาท แบ่งเป็น การใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” เกิน 50% หรือ 616 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” มียอดใช้จ่าย 155 ล้านบาท และร้าน “ใช้” มียอด 16 ล้านบาท
ส่วนการใช้จ่ายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือห้างสรรพสินค้า อยู่ที่ 261 ล้านบาท หรือ 22% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้ยืนยันได้ว่าโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่แน่นอน
สำหรับการใช้จ่ายในกระเป๋าเงิน ช่องที่ 2 ซึ่งจะคืนเงิน 15% ของยอดการใช้จ่ายรวมสูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาทนั้น มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 4,604 ราย มียอดใช้จ่าย 13.1 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ประมาณ 8.8 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 2.5 ล้านบาท และ 1.8 ล้านบาท ตามลำดับ
“เบื้องต้นคาดว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท มาจากกระเป๋าเงินช่องที่ 1 ที่รัฐให้เงิน 1,000 บาท รวม 10,000 ล้านบาท และกระเป๋าเงินช่องที่ 2 ที่ประชาชนใส่เงินเพิ่ม 50,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 13,500 บาทต่อราย ซึ่งช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ เติบโตขึ้น 0.2-0.3%”
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โครงการชิม ช้อปใช้ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ แต่ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คือ ใช้เงินหมดก็จบไป ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว ขาดแรงขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง
การใช้จ่ายของประชาชนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวที่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ส่วนในกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมีบ้างประปราย เหตุที่ประชาชนเลือกใช้บริการที่ห้างใหญ่ เพราะสะดวก ใช้จ่ายได้ครอบคลุมหลายอย่าง
ส่วนที่คนมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ห้างขนาดใหญ่หรือไม่ หากมาวิเคราะห์กันแบบเชิงลึก ส่วนหนึ่งพบว่า การใช้จ่ายผ่านห้างใหญ่ นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังสามารถนำส่งข้อมูลด้านต่างๆให้ภาครัฐได้ เนื่องด้วยมีระบบที่พร้อมและรองรับอยู่แล้ว อาทิ ข้อมูลการใช้จ่าย ประเภทสินค้าขายดี ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคตได้ ซึ่งห้างขนาดเล็กยังมีข้อจำกัดในเรื่องการจัดเก็บข้อมูล เพราะระบบอาจไม่รองรับ
ทั้งนี้ หากมองอีกมุม โครงการชิม ช้อป ใช้ ภาครัฐคงอยากให้ประชาชนรู้จักและเข้าใกล้การใช้จ่ายแบบ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีทำให้เกิดการเรียนรู้ โครงการนี้มีแรงจูงใจที่ทำให้คนได้เรียนรู้ธุรกรรมการเงินออนไลน์
“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศแบบระยะยาวจะดีกว่า”.
ทีมเศรษฐกิจ