นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยในงานสัปดาห์ประกันภัย ปี 62 ว่า ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการจัดทำแบบประกันภัยเข้ามาเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวดียิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นจะมีทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้มาก ทำให้ไม่มีหลักประกันในชีวิต จึงต้องการให้อุตสาหกรรมประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วม
กำลังดูอยู่ว่าจะต้องมีประกันสุขภาพ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ประกันอุบัติเหตุก็สำคัญ เช่น เกษตรกร หรือประชาชนในชุมชน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะทำอย่างไร จึงได้ให้ คปภ.ไปศึกษาความเหมาะสมว่าหากจะต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐควรเป็นรูปแบบใด แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าจะมีประกันแบบใดบ้างและเริ่มได้เมื่อไร อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการทำประกันสุขภาพของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต”
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า คปภ.ได้เสนอรูปแบบประกันภัยสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯเบื้องต้นไปแล้ว โดยรูปแบบประกันภัยจะคุ้มครองผู้เสียชีวิต 100,000 บาท ต่อคน คิดเบี้ยปี 99 บาทต่อคน หรือลดทุนประกันเฉลี่ย 50,000 บาทต่อคน คิดเบี้ย 50-60 บาทต่อคน คิดเป็นงบประมาณที่ภาครัฐต้องจ่าย 700-800 ล้านบาท ขณะเดียวกันภาครัฐขอให้ศึกษาขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม นอกเหนือจากบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มครองประกันสุขภาพ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและต้องหารืออย่างละเอียดก่อน
นอกจากนี้ คปภ.ยังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมพัฒนาซุปเปอร์แซนด์บ็อกซ์ที่เป็นลักษณะของโครงการร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ต้องผ่านแนวทางการกำกับดูแลของ 3 หน่วยกำกับดูแล โดยจะใช้เวลาทดสอบ 1 ปี ก่อนนำสู่การใช้งานจริง เช่น การประกันด้านการลงทุนและประกันอาวุโส การประกันอุบัติเหตุ การประกันผู้มีรายได้น้อยพ่วงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.