ประกันมีตั้งเยอะ! ควรเลือกทำอะไรก่อนถึงจะคุ้มค่าที่สุด

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Content Partnership

Tag

ประกันมีตั้งเยอะ! ควรเลือกทำอะไรก่อนถึงจะคุ้มค่าที่สุด

Date Time: 1 ต.ค. 2562 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • เชื่อว่าหลายคนปวดหัวกับเรื่องทำประกัน ยิ่งถ้าเป็นการซื้อครั้งแรก ที่ไม่มีคนคอยแนะนำ คงเลือกกันไม่ถูก เพราะอันนั้นก็ดี อันนี้ก็ผลตอบแทนเข้าท่า จนสุดท้ายอาจตัดใจไม่ซื้อเลยก็เป็นได้

เชื่อว่าหลายคนปวดหัวกับเรื่องทำประกัน ยิ่งถ้าเป็นการซื้อครั้งแรก ที่ไม่มีคนคอยแนะนำ คงเลือกกันไม่ถูก เพราะอันนั้นก็ดี อันนี้ก็ผลตอบแทนเข้าท่า จนสุดท้ายอาจตัดใจไม่ซื้อเลยก็เป็นได้ หรือบางคนชอบคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่จำเป็นต้องซื้อตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วการซื้อประกันติดตัวไว้นับเป็นเรื่องที่ดีและคุ้มค่ามาก เพราะทุกวันเราอาจเจอกับเรื่องเสี่ยงแบบไม่คาดฝัน ดังนั้นการทำประกันไว้ก็ช่วยลดความเสี่ยงให้กับชีวิต แถมประกันบางประเภทยังช่วยลดหย่อนภาษี หรือมีเงินคืนตามเงื่อนไขอีกด้วย

ความจริงอีกอย่างที่คนไม่เคยทำประกันมักคิดว่าประกันมีแค่เพียงประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ซึ่งถือว่าเป็น 3 ประเภทหลักๆ ที่หลายคนจะนึกถึง เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุด แต่จริงๆ แล้วยังมีประกันอีกหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น ประกันอุบัติเหตุ ประกันอัคคีภัย ประกันการเดินทาง ประกันภัยธุรกิจรายย่อย (SME) และอื่นๆ อีกมากมายให้เลือกซื้อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้

ในเมื่อมีประกันอยู่เยอะขนาดนี้…แล้วเราควรเลือกทำประกันอะไรดี? หรือควรซื้อประเภทไหนก่อน – หลัง คำถามนี้สามารถตอบได้ไม่ยาก หากเราจัดลำดับความสำคัญของชีวิตควบคู่ไปกับการซื้อประกัน ใครที่ยังวางแผนจะซื้อประกันอยู่ เรามีแนวทางง่ายๆ มาแนะนำให้ 3 ข้อ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อประกันได้อย่างคุ้มค่ามาฝาก

1. ดูเงินในกระเป๋าสตางค์เราเสียก่อน ว่ามีงบประมาณในการทำประกันอยู่เท่าไหร่

ข้อนี้เป็นข้อสำคัญสุดที่เราต้องหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นเรื่องแรก เพราะประกันเป็นรายจ่ายแบบ Fixed Cost เป็นเงินที่ต้องจ่ายระยะยาวต่อเดือน หรือบางประกันอาจจ่ายเป็นรายปี ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ว่าเรามีงบจ่ายค่าเบี้ยทั้งหมดต่อปีเท่าไหร่? หรือภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตเราต่อเดือน ต่อปี มีมากเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราเลือกซื้อประกันไปแล้วสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันได้โดยไม่กระทบต่อชีวิตก็นับเป็นเรื่องดี จุดนี้มีวิธีคิดได้คร่าวๆ ว่าการซื้อประกันไม่ควรเกิน 10% - 15% ของรายได้ทั้งปี เช่น มีรายได้เดือนละ 40,000 บาท ปีหนึ่งเท่ากับ 480,000 บาท เบี้ยประกันทั้งหมดต่อปีที่เหมาะสมควรอยู่ประมาณปีละประมาณ 40,000 – 50,000 บาท เป็นต้น ถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกที่ให้ แบ่งชำระค่าเบี้ยประกันได้ก็จะช่วยลดภาระอีกแรง

2. สังเกตชีวิตประจำวันของตัวเอง ว่าคลุกคลีอยู่กับอะไร

หากมีใครมาบอกว่าทำประกันสุขภาพเลย ทำประกันชีวิตดีกว่า หรือว่าควรทำประกันประเภทใดๆ อย่าเพิ่งไปเชื่อทำตามทันที! แต่อยากให้ลองจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของเราดูเสียก่อนว่าในทุกวันต้องเจอกับอะไรบ้าง คลุกคลีอยู่กับสิ่งไหนมากที่สุด ค่อยเลือกเทน้ำหนักไปกับประกันประเภทนั้นๆ เช่น ถ้าทุกวันต้องใช้รถไปทำงาน อาจยกความสำคัญให้ ‘ประกันภัยรถยนต์’ ก่อน ปัจจุบันประกันภัยรถยนต์ก็มีตั้งแต่ประเภท 3 – 1 และก็มีเพิ่มเติมอย่าง 3 พลัส หรือ 2 พลัส ให้เลือกความคุ้มครองได้ตามต้องการ โดยการเลือกประกันภัยรถยนต์นั้นอาจจะต้องลองไปหาข้อมูลและโปรโมชั่นที่คุ้มค่า

หากคุณต้องเดินทางบ่อยๆ ก็ควรเลือก ‘ประกันการเดินทาง’ เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจ หมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นป่วยเล็กน้อย หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตก็จะได้ไม่เป็นภาระคนข้างหลัง แถมทุกวันนี้ก็มีประกันภัยการเดินทางสำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศที่เหมาะมากกับคนสมัยนี้ที่นิยมไปเรียนต่อกัน

และถ้าเพิ่งสร้างบ้านเสร็จ หรือซื้อบ้านหลังใหม่ การทำ ‘ประกันอัคคีภัย’ ไว้ เพื่อคุ้มครองบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ภายในบ้านที่เกิดจากสาเหตุไฟไหม้และสาเหตุต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

3. สำรวจตัวเองว่ามีสวัสดิการอะไรอยู่บ้าง

ข้อนี้สำหรับมนุษย์เงินเดือนตั้งใจฟังให้ดี แล้วหยิบปากกากับกระดาษมาลิสต์ดูก่อนว่าปัจจุบันเรามีสวัสดิการอะไรอยู่บ้าง เช่น บริษัทที่ทำงานมีประกันสังคม ประกันกลุ่ม หรือประกันอุบัติเหตุ หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? วงเงินครอบคลุมเพียงพอต่อสุขภาพของเราแค่ไหนบ้าง? จากนั้นมาดูส่วนที่ขาดว่าควรซื้อประกันส่วนไหนเพิ่มถึงจะครอบคลุมตามที่ต้องการ เช่น ซื้อความคุ้มครองสำหรับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอก เป็นต้น จากนั้นมาคำนวณเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มในแต่ละปี ในข้อนี้ขอหยิบยก 2 สถานการณ์มาแนะนำดังนี้

3.1 หากมีสวัสดิการอยู่บ้าง ต้องเลือกทำประกันอย่างไร?

สมมติว่าบริษัทมีสวัสดิการให้โดยครอบคลุมประกันสุขภาพ 40% ประกันอุบัติเหตุ 40% และประกันชีวิต 10% ของทั้งหมด ในจุดนี้อาจเลือกทำประกันที่มีเปอร์เซ็นต์น้อยสุด นั่นคือ ‘ประกันชีวิต’ ซึ่งมีเลือกถึง 3 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบคุ้มครองตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ หรือแบบมีกำหนดระยะเวลา หรือถ้างบที่เรามีไม่เพียงพอต่อการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ก็อาจแบ่งไปเพิ่มประกันชีวิตส่วนหนึ่ง แล้วไปเพิ่มประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพให้ครอบคลุมได้มากขึ้นดีกว่า แถมเบี้ยประกันต่อปีก็ถูกกว่า

3.2 หากไม่มีสวัสดิการเลย ต้องเลือกทำประกันอย่างไร?

ถ้าคุณไม่ได้ทำงานประจำ หรือไม่มีการคุ้มครองจากสวัสดิการใดๆ เลยสักประเภท ถ้าต้องเลือกระหว่างประกันชีวิตกับประกันอุบัติเหตุ ก็ควรเลือกทำ ‘ประกันภัยอุบัติเหตุ’ หรือ ‘ประกันสุขภาพ’ เพื่อตัวเองไว้ก่อน เพราะการทำประกันชีวิตนั้นจะได้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว ประกันภัยอุบัติเหตุก็สามารถคุ้มครองได้หลายอย่าง ทั้งจากอุบัติเหตุจากการขับขี่หรือโดยสาร คุ้มครองการสูญเสียอวัยวะ หรือการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

นอกจากการเลือกทำประกันที่เราแนะนำไปทั้งหมดนี้แล้ว ยังมีประกันภัยอีกหลายประเภทที่เชื่อว่าหลายคนนึกไม่ถึง และอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือธุรกิจของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ประกันภัยธุรกิจรายย่อย (SME)’ ที่คุ้มครองทรัพย์สินสำหรับธุรกิจบริการ SME และความเสียหายต่ออาคาร หรือ ‘ประกันภัยเบ็ดเตล็ด’ ที่คุ้มครองทั้งความรับผิดในกรณีถูกฟ้องตามกฎหมาย ประกันภัยสำหรับเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะมองหาประกันประเภทไหนให้เหมาะกับตัวเอง หรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับประกันแต่ละประเภทเพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปปรึกษา ‘AEON Insurance’ หรือติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์  02-689-7111 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.aeoninsurance.co.th 

อย่ารอให้เกิดเหตุไม่คาดฝันก่อนแล้วค่อยมาคิดซื้อประกัน แต่ควรทำให้เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตที่ต้องคิดไว้ก่อนจะดีกว่า


Author

Content Partnership

Content Partnership