10 ปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ผุดโครงการเล็กๆ ขึ้นมาโครงการหนึ่ง หวังช่วยแก้ปัญหาคนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้างรายวัน รวมทั้งมนุษย์รายได้เดือนชนเดือนทั้งหลาย ให้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือ องค์ความรู้ในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ภายใต้ความหวังว่าอย่างน้อยที่สุด คนในกลุ่มฐานพีระมิดส่วนใหญ่ของสังคม จะได้มีโอกาสปลดแอกจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว มีเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และส่วนหนึ่งนำมาลงทุนเพื่อขยายดอกผล สร้างความมั่งคั่ง มั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัวในยามแก่เฒ่า
ปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งคลุกคลีตีโมงอยู่กับโปรเจกต์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Happy Money Happy Retirement” มาตั้งแต่ต้น เล่าให้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ฟังว่า โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากความร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาการเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานราว 20 แห่ง
อุปสรรคอยู่ที่ตัวคนงาน ที่มักลา-ขาด-มาสาย วันไหนเงินเดือนออก คนงานจะลาเกือบทั้งหมด เพราะต้องหนีเจ้าหนี้ที่มาดักรอหน้าโรงงาน หลายครั้งเจ้าของโรงงานแก้ปัญหาโดยใช้หนี้ให้ แต่สักพักก็กลับมาเป็นหนี้เหมือนเดิม เมื่อคนงานมีปัญหาการเงินที่แก้ไม่ตก ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและเป้าหมายการเพิ่มผลผลิต
จากวันนั้น โครงการ “Happy Money Happy Retirement” จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น จนปัจจุบัน “ปิยาภรณ์” พร้อมทีมงานอีก 3 คน ทำงานร่วมกับองค์กรทั่วประเทศแล้ว 40 แห่ง ทำเวิร์กช็อปกับพนักงาน 2,000 คน และพัฒนาเทรนเนอร์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วม 40 คน
ด้วยประสบการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา เธอเล่าว่า ความสำเร็จเกิดจาก 2 ปัจจัย นั่นคือการให้ความรู้ (Knowhow) และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารองค์กรความรู้ที่ว่าประกอบด้วย 4 รู้ ได้แก่ รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ และรู้ขยายดอกผล รวมทั้งรู้วิธีใช้เครื่องมือวางแผนทางการเงิน อันประกอบด้วย
1.ทำงบดุลส่วนบุคคล ซึ่งทำให้เข้าใจตัวเองว่า เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีหนี้สินอะไร หากทรัพย์สินเยอะ หนี้สินน้อย ถือว่าร่ำรวย
2.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะการจดค่าใช้จ่ายจะทำให้รู้พฤติกรรมการใช้เงิน สะกดรอยตามเงินและหารูรั่วของกระเป๋าเงินได้ถูกต้อง
3.ทำงบประมาณครอบครัว กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท ซึ่งเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีที่สุด
เริ่มต้นทีมงานจะเข้าไปฝึกเทรนเนอร์ในบริษัท เพื่อให้เป็นผู้นำ ชี้แนะ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ โดยตลาดหลักทรัพย์จะลงพื้นที่ราว 4 เดือน จากนั้นจะปล่อยให้เทรนเนอร์ดูแลต่อไปและติดตามอยู่ห่างๆ กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ เป็นองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญและติดตามงานอยู่เสมอ
สิ่งที่น่าตกใจคือในบัญชีรายรับ-รายจ่ายของคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ มักมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และตัดทิ้งได้ทันที ได้แก่ 1.ค่าหวยเฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 บาท ทั้งๆที่เงินเดือนอยู่ในระดับหมื่นบาท 2.ค่าเหล้า บุหรี่ 3.ค่าเครื่องดื่มชูกำลังตกเดือนละ 1,000 บาท หากตัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไป จะมีเงินเหลือทันที
ในบางกรณีพบว่าค่าน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะตื่นสายขึ้นรถประจำทางไม่ทัน จึงต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ไป เมื่อปรับพฤติกรรมให้ตื่นเช้าขึ้น หันมานั่งรถประจำทาง ทำให้มีเงินเก็บมากขึ้น
แต่ก็มีบางกรณีที่เมื่อทำบัญชีแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายล้วนจำเป็น ปรับลดไม่ได้ ทางออกคือต้องหารายได้เพิ่ม โดยเทรนเนอร์จะเข้าไปช่วยชี้แนะ หรือบางครั้งองค์กรจะยื่นมือเข้าไปช่วย
“ปิยาภรณ์” ปิดท้ายว่า 10 ปีที่ทำงานมา มีหลายเคสที่ประสบความสำเร็จชัดเจน บางคนมีเงินเก็บ เอาไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยกลายเป็นแม่บ้านเงินล้าน บางคนปลดแอกจากหนี้สิน เริ่มมีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และกรณีศึกษาต่อจากนี้ บางส่วนเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นใจภายใต้โครงการ “Happy Money Happy Retirement” ....
กรณีศึกษานี้ถือเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของโครงการ “Happy Money Happy Retirement” เมื่อ “ปาริชาติ” แม่บ้านวัย 46 ปีของบริษัท รักษ์สยาม ผู้ซึ่งประจำการอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2544 สามารถสร้างความมั่งคั่งจากเงินเก็บผ่านการลงทุนในกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ จนร่ำรวยเป็นเศรษฐีเงินล้าน
“ปาริชาติ” จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 พื้นเพเป็นคนศรีสะเกษ เคยแต่งงานแต่สามีเสียชีวิตและไม่มีลูก เธอเล่าว่าโชคดีที่เป็นคนเก็บเงินเก่ง ไม่ฟุ่มเฟือย ทำให้มีเงินซื้อบ้านที่ศรีสะเกษได้ 1 หลัง รวมที่นาอีก 10 ไร่
เงินที่เหลือนำมาลงทุนให้งอกเงย หลังเข้าโครงการกับตลาดหลักทรัพย์เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเงินต้นกว่า 400,000 บาท งอกเงยผ่าน 2 ล้านบาทไปแล้ว ด้วยผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยปีละ 10%
“ปาริชาติ” ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน มีรายได้รวมประมาณเดือนละ 14,500-14,600 บาท ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด และกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนชัดเจน ค่าใช้จ่ายหลักเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร รวมกันประมาณ 5,000 บาท เหลือเก็บราวเดือนละ 9,000 บาท ถูกแบ่งไปลงทุนในกองทุนทุกเดือน
เธอยืนยันว่าด้วยรายรับดังกล่าว สามารถใช้ชีวิตในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯได้อย่างพอเพียงและยังมีเงินเก็บ หากรู้จักประหยัดอดออมและอดทน “เคล็ดลับอย่างหนึ่งคือการเลือกที่พักให้ใกล้กับที่ทำงาน หากเดินไปทำงานได้ คุณจะประหยัดค่าเดินทางไปเยอะ เช่นเดียวกับค่ากิน ต้องไม่กินสุรุ่ยสุร่ายหรือกินมากไป”
เมื่อถามถึงความสำเร็จ “ปาริชาติ” บอกว่าทุกอย่างอยู่ที่การกำหนดเป้าหมายและวางแผน ในแต่ละปีเธอจะวางเป้าหมายการลงทุนเอาไว้ และสิ่งที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายคือวินัยและความอดทน นอกจากนั้นยังต้องหมั่นอ่านหนังสือ หาความรู้เพิ่มเติม โดยหนังสือที่ผ่านตา “ปาริชาติ”มาแล้ว ได้แก่ เงินทองต้องวางแผน, ออมก่อนรวยกว่า และเก็บก่อนใช้ ซึ่งหาอ่านในห้องสมุดมารวยที่ตลาดหลักทรัพย์
เธอสรุปจบว่า เป้าหมายสุดท้ายคือการลงทุนขยายพอร์ตให้แตะ 5 ล้านบาท จากนั้นจะเริ่มเที่ยวบ้าง ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสเที่ยวเพราะกลัวขาดรายได้ ทำให้ไม่เคยขาด ลา หรือสาย ได้เบี้ยขยันเพิ่มทุกเดือนและเอาไปลงทุนต่อ
ชีวิตของ “บรรจง” หนุ่มวัย 38 ปี พนักงานระดับหัวหน้าแผนกบริการส่วนหน้าของบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นชีวิตของลูกหนี้ ที่ผ่านภาวะการล้มละลายทางการเงินจากความประมาทในการใช้ชีวิต จนถึงขั้นตัดสินใจจะปลิดชีพตัวเอง
“บรรจง” จบชั้นมัธยมต้นจากบุรีรัมย์ เมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างในกรุงเทพฯ เริ่มมีเงินเดือน ก็เป็นหนี้ทันที เพราะการใช้จ่ายที่เกินตัว กินเหล้าสูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน แถมเล่นพนันโต๊ะบอล พอเงินไม่พอใช้ ก็ใช้วิธีรูดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรเงินสด ช่วงแรกชำระแค่ขั้นต่ำ หลังๆมาแค่ขั้นต่ำก็ไม่พอจ่าย จึงเริ่มหยิบยืมเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน บ่อยจนไม่มีใครให้ยืม
จึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ ที่นอกจากคิดดอกเบี้ยโหดร้อยละ 20 ต่อเดือนแล้ว เจ้าหนี้ยังยึดบัตรเอทีเอ็มเงินเดือนไว้ เพื่อกดเงินมาจ่ายดอกเบี้ยก่อนจะโอนเงินที่เหลือคืนให้
จุดเปลี่ยนของ “บรรจง” เกิดขึ้นเมื่อประสบอุบัติเหตุจนต้องพักรักษาตัวถึง 3 เดือน เมื่อทำงานไม่ได้ รายได้หดเจ้าหนี้ทั้งในและนอกระบบรุมเร้า จึงคิดหนีปัญหา แต่โชคดีที่ไม่มีแม้เงินที่จะซื้อยาฆ่าแมลงที่จะใช้ปลิดชีพตัวเอง
จนเมื่อเดือน พ.ย. 2561 “บรรจง” ตัดสินใจเข้า โครงการ “Happy Money Happy Retirement” เนื่องจากบริษัทต้นสังกัดคือเอสแอนด์พี ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของโครงการ ต้องการยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะเห็นว่าเป็นเคสลูกหนี้ที่วิกฤติที่สุด
มีการเก็บข้อมูลปัญหาของ “บรรจง” เพื่อมาวิเคราะห์วางแผนแก้หนี้ เริ่มจากไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้นอกระบบที่มีภาระดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ขอให้หยุดคิดดอกเบี้ยและลดดอกที่ค้างจ่าย โดยที่ทำงานให้ยืมเงิน 100,000 บาท นำไปจ่ายหนี้รอบแรก เพื่อให้ได้บัตรเอทีเอ็มคืน
จากนั้นให้จดบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งทำให้ เริ่มเห็นต้นตอของปัญหาและตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ขณะเดียวกันต้องหารายได้เพิ่ม โดยเริ่มหา ของที่ไม่ได้ใช้ในบ้านมาขาย รวมทั้งสิ่งของบริจาคจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ที่ร่วมใจกันช่วยเหลือเขา ทุกวันนี้ในวันหยุด “บรรจง” จะเป็นพ่อค้าขายของมือ 2 ที่ตลาดนัดสายใต้ใหม่
รายได้ทั้งหมดที่ได้มารวมเงิน เดือน 20,000 กว่า และเงินเดือนภรรยา 10,000 กว่าบาท เมื่อกันรายจ่ายไว้ใช้ทั้งเดือนแล้ว เขานำไปทยอยจ่ายหนี้นอกระบบทั้งหมด ซึ่งตามแผน สิ้นปีนี้จะเคลียร์หนี้นอกระบบที่มีอยู่ 390,000 บาทได้หมดสิ้น ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ราว 100,000 บาท
และได้นำโบนัสไปเคลียร์หนี้บัตรเครดิตแล้ว 1 ใบ และกำลังไกล่เกลี่ยอีก 4 ใบ หากไม่มีปัญหาอะไรหนี้บัตรเครดิตจะหมดในเดือน ก.พ.ปีหน้า และที่ภูมิใจที่สุดคือสามารถส่งเงินให้แม่เดือนละ 2,000 บาท ทำมาได้ 5-6 เดือนแล้ว จากที่ทั้งชีวิตนี้ไม่เคยทำได้มาก่อน
“บรรจง” วางแผนว่า เมื่อเขาปลดหนี้นอกระบบได้หมด จะออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นเป็น 10% จาก 5% จากนั้นจะเพิ่มเป็น 15% เมื่อเคลียร์หนี้บัตรเครดิต
หมดแล้ว ที่เหลือจากนั้นก็จะกันเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นหรือฉุกเฉิน ซึ่งทั้งชีวิตไม่เคยมีเงินก้อนเลย
เขาบอกกับพวกเราว่า ทุกวันนี้มีความสุขมาก ไม่เครียด ไม่มีเจ้าหนี้มาตามทวงหนี้อีกแล้ว หากจะเป็นหนี้อีกครั้งคือจะกู้ซื้อบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว และจะไม่นำพาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยงของชีวิตลูกหนี้แบบเดิมอีก
พนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท.โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) “PTTGC” วัย 33 ปีคนนี้ มีนิสัยมัธยัสถ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำงานมาแล้ว 9 ปี
หลักในการเก็บเงินของเธอง่ายๆสั้นๆคือ ไม่ใช้ของแบรนด์เนม และไม่ใช้เงินเกินกว่ารายรับที่ได้มา เพราะไม่ชอบเป็นหนี้ใคร และไม่มีเงินมากพอจะให้ใครยืม
สินค้าที่ “ทิพย์อาภรณ์” ซื้อ จึงเป็นสินค้าแบกะดินหรือสินค้าราคาถูก ในระดับที่พนักงานรุ่นเล็กอย่างเธอ ควรซื้อได้ไม่เกิน 290 บาท
แต่แม้จะเป็นคนเก็บออม “ทิพย์อาภรณ์” ก็จะเอาเงินโบนัสที่เธอได้ในปลายปีใส่ซองให้แก่แม่ พ่อ คุณตา คุณยาย พี่ชาย และแม่บ้าน ทุกปีไม่เคยขาด มากน้อยตามกำลังที่จะสามารถให้ได้
ล่าสุดเธอซื้อกองทุน LTF ให้พี่ชาย เพื่อให้เกิดการเริ่มต้นของการออมอย่างถูกวิธีแก่เขา แล้วขอให้เขาเคร่งครัดในการซื้อกองทุนนี้ทุกปีจนกว่ากองทุนจะยุบไป ค่อยไปออมเงินโดยวิธีอื่นแทน
สมัยเรียน “สาธิตเกษตร” เธอใช้สมุดเรียนที่เหลือเป็นสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่พ่อให้วันละ 20 บาท อย่างละเอียดทุกวัน กระทั่งขึ้นมัธยม พ่อเพิ่มเงินรายวันให้เป็น 40 บาท เธอก็ยิ่งต้องจดรายจ่ายอย่างละเอียดมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน มีรายได้เป็นของตัวเอง การใช้จ่ายก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยใช้เฉลี่ยวันละไม่เกิน 500-1,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ เป็นการทานอาหารกลางวัน และซื้อของกระจุกกระจิกให้สุนัขที่เลี้ยง
วันนี้เธอเริ่มตั้งคำถามว่า เงินเก็บของเธอนำไปลงทุนอะไรได้อีกบ้าง เพื่อจะได้เพิ่มผลตอบแทนที่ดีกว่า
ปัจจุบัน “ทิพย์อาภรณ์” วางแผนการเงินระยะยาวเพื่อรองรับวัยเกษียณ ด้วยการนำเงินออมรายเดือนและโบนัสมารวมกัน แล้วจัดสรรส่วนแรก มอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ทุกคนในครอบครัว ที่เหลือนำไปฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ของ ปตท. เพราะอัตราดอกเบี้ยดีกว่าธนาคาร และส่วนที่ 3 นำไปซื้อกองทุน LTF และ RMF เพราะนอกจากนำไปหักลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังถือเป็นเงินออมด้วย เชื่อว่าไม่ต้องรอถึงเกษียณ “ทิพอาภรณ์” มีโอกาสรวยก่อนแก่แน่นอน
เส้นทางสู่เงินล้าน ออมไว้เลี้ยงตัว...รวยให้ได้ก่อนแก่
อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของบริษัท พีเอสซี พร็อพเพอร์ตี้ วัย 47 ปี คนนี้ เคยมีหนี้สูงสุด 40,000 บาท อันเนื่องจากผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ทำให้ภาระดอกเบี้ยทบต้น
แต่หลังเข้าโครงการ Happy Money Happy Retirement เมื่อปี 2560 วันนี้ “วิทยา” สามารถปลดแอกจากหนี้สินได้แล้ว
แถมมีเงินเก็บอยู่ราว 500,000 บาท ซึ่งกำลังดูลู่ทางว่าจะนำไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยได้อย่างไร นอกเหนือจากการนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนซื้อแพะมาเลี้ยงที่บ้านเกิด เริ่มจาก 10 ตัว แล้วขยายเป็น 20 ตัว เลี้ยงได้ 4 เดือนก็ขายทำกำไร และซื้อรุ่นต่อไปมาเลี้ยงต่อ โดยเลี้ยงได้ 2 รุ่นแล้ว
“วิทยา” เป็นคนโคราช ปัจจุบันเป็นหัวหน้าครอบครัวของภรรยาและลูก 1 คน ในวัย 10 ขวบ จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจเข้ารับการช่วยเหลือเพื่อเคลียร์หนี้สิน จัดระเบียบค่าใช้จ่ายใหม่ เพราะมองว่าอายุเยอะแล้ว แต่ยังลำบาก มีหนี้สิน สร้างความมั่นคงให้กับลูกไม่ได้ ขณะที่คนรอบข้างแม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็อยู่ได้สบายตัวกว่า
จึงคิดว่าหากไม่เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ วันหน้าครอบครัวจะลำบากแน่ ไม่มีแม้แต่เงินสำรองฉุกเฉินเผื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย
สำหรับกรณีของ “วิทยา” ตอนเข้าโครงการมีหนี้สินอยู่ 40,000 บาท และยังมีภาระเลี้ยงดูลูกที่กำลังโต แม้ว่าภรรยาจะทำงาน แต่ก็เป็นงาน แม่บ้านที่ได้ค่าจ้างไม่สูงนัก ทางโครงการแนะนำให้เข้าโครงการประนอมหนี้ ขอทยอยผ่อนชำระรายเดือนตามที่ไหว เมื่อรักษาวินัยได้ ธนาคารจึงยอมปรับลดดอกเบี้ยและค่าปรับให้ จนปลดหนี้ได้ในที่สุด
เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งต้องใช้หนี้ให้หมดและเลี้ยงลูก “วิทยา” จึงได้รับคำแนะนำให้หารายได้เสริม โดยเขาเลือกขี่มอเตอร์ไซต์รับส่งสินค้าและอาหาร ปรากฏทำรายได้ดีมาก ยิ่งขยันขี่ ก็ยิ่งได้เงิน ทำให้ล่าสุดตัดสินใจออกจากงานหันมาขี่มอเตอร์ไซต์
ส่งสินค้าและอาหารผ่านแอปพลิเคชันแทน เขาเล่าว่ารายได้ดีมากเฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 บาท หากเป็น เสาร์-อาทิตย์ รายได้จะขยับขึ้นไปแตะ 2,000 บาทได้ แต่ต้องไม่ขี้เกียจ
“วิทยา” เล่าว่า แม้เคยมีหนี้สิน แต่สมัยเป็น รปภ. เขาไม่เคยขาดงาน ไม่ลา และไม่สาย เพราะถ้าขยันจะได้รับเบี้ยขยันเพิ่ม พอมาขี่มอเตอร์ไซต์ก็ถือคติเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ “วิทยา” ยังขอให้รางวัลตัวเอง ด้วยการเสี่ยงโชคซื้อหวยเดือนละ 2 ครั้ง แต่ลดจำนวนลงไปมาก จากที่เคยเล่นเดือนละ 3,000–4,000 บาท ลดเหลือ 1,000–2,000 บาท ชีวิตจะได้มีลุ้น ส่วนพนันโต๊ะบอลที่เคยเล่นนั้น ขอบอกลาเด็ดขาด
“สุมนรัตน์” ในวัย 50 ปี ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลปฏิบัติการ บมจ.เอสแอนด์พี ซินดิเคท ถือเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นบน ที่มีเงินเดือนไม่น้อยและไม่เป็นหนี้ แต่เมื่อได้รับเลือกจากบริษัทให้เข้าหลักสูตรเรียนรู้การเป็นเทรนเนอร์ในโครงการ Happy Money Happy Retirement เพื่อนำมาสอนพนักงาน
ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาใช้จ่ายผิด บริหารจัดการการเงินส่วนตัวผิด ทำให้เก็บออมได้ไม่เยอะ และไม่รู้หลักการลงทุนที่ถูกต้อง เสียดายที่เรียนรู้ช้าไป จึงนำบทเรียนของตนเองมาสอนพนักงานรุ่นน้อง โดยให้เริ่มทำตั้งแต่เด็ก ให้ออมและลงทุนตั้งแต่เริ่มมีรายได้ ยิ่งออมก่อนลงทุนก่อนยิ่งรวยก่อน และเกษียณสุขได้อย่างแน่นอน
“ตั้งแต่วันแรกที่เข้าอบรม ปฏิญาณตนเลยว่าจะเลิกเล่นหวย แต่จะซื้อสลากออมสิน หรือสลาก ธ.ก.ส.แทน เพราะเล่นหวยถ้าไม่ถูกเงินก็หายไปเลย แต่ซื้อสลากออมทรัพย์แม้ไม่ถูกรางวัล แต่เงินต้นก็ยังอยู่แถมได้ดอกเบี้ยด้วย”
“สุมนรัตน์” เล่าว่า หลักที่ต้องปฏิบัติอย่างจริงจังคือ การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทุกวัน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมของตัวเอง และวางแผนว่าเมื่อเกษียณอายุ จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเดือนละเท่าไร ตั้งแต่อายุ 61-85 ปี หรืออีก 25 ปี หลังจากนั้น เช่น หากต้องการใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ต้องมีเงินก้อนหลังเกษียณเท่าไร
เมื่อได้ตัวเลขแล้ว ต้องมาหาช่องทางที่จะไปสู่เป้าหมายว่า ณ ตั้งแต่วันนี้เราต้องเก็บเงินอย่างไร และต้องนำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าไร ซึ่งการนำเงินเก็บไปฝากบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวไม่มีทางพอ
ในส่วนของตนเองนั้นได้ลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมทั้งทำประกันบำนาญเกษียณ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีด้วย นอกจากนั้นยังใส่เงินออมเพิ่มขึ้นในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากเดิม 2% เป็น 15% ของเงินเดือน โดยเมื่อทำบัญชีชัดเจน ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก สามารถกันเงินออมได้ถึง 50% ของรายได้
ดอกผลจากการกระจายการลงทุนในกองทุนต่างๆ นอกจาก LTF และ RMF โดยใช้วิธีให้ตัดเงินทุกเดือนเท่าๆกันเพื่อลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA) นั้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าจะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าและการลงทุนระยะยาวมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
“สุมนรัตน์” ปิดท้ายว่า ขณะนี้ปฏิบัติตามแผนได้ 4-5 ปีแล้ว หัวใจของความสำเร็จคือ ความมีวินัย แต่สิ่งสำคัญนอกจากเป้าหมายทางการเงินที่ทำให้เกษียณสุขแล้ว ร่างกายต้องแข็งแรง ไม่เป็นโรคภัยด้วย
เธอจึงได้กันเงินส่วนหนึ่งไปซื้อคอร์ส ซื้อเครื่องออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้แข็งแรง สุขภาพดี มีความสุข ไม่เป็นภาระของลูกหลาน นอกเหนือจากหาความสุขด้วยการไปเรียนศิลปะ วาดรูป ทำอาหาร เช่น ทำลูกชุบและทำการ์ดขาย กำไรที่ได้ก็นำไปบริจาคช่วยสังคม.
ทีมเศรษฐกิจ