คลังโวผู้ประกอบการสมัคร “ชิมช้อปใช้” ถึง 3.2 หมื่นร้านค้า ขณะที่ สศค.-กรุงไทย-ททท. เตรียมทดลองระบบก่อนเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจริง 23 ก.ย.นี้ พร้อมโอนเงินใส่แอปเป๋าตังวันแรก 27 ก.ย.นี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ว่า หลังจากเปิดรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2562 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการและร้านค้าสนใจสมัครร่วมมาตรการฯ แล้ว 32,000 ร้านค้า แบ่งเป็น ร้านชิมเช่น ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น จำนวน 15,000 ร้านค้า ร้านช้อป เช่น ร้านค้าท้องถิ่น เป็นต้น จำนวน 150,000 ร้านค้า และร้านใช้ เช่น โรงแรม รีสอร์ต เป็นต้น จำนวน 2,000 ร้านค้า
ทั้งนี้การที่มีผู้สมัครเพิ่มขึ้นเนื่องจากกรมบัญชีกลางและธนาคารกรุงไทยร่วมกันประชาสัมพันธ์ พร้อมปรับการรับสมัครให้ง่ายขึ้น และประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาหอการค้าไทย ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ชักชวนร้านค้าในท้องถิ่น หรือร้านค้าขนาดเล็กเข้ามาร่วมมาตรการเพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศมากขึ้น
“คาดว่าหลังจากปิดรับสมัคร วันที่ 20 ก.ย.นี้ จะมีผู้สมัครร่วมมาตรการได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ 40,000 ร้านค้า และเมื่อรวมกับร้านค้าที่เคยเข้าร่วมกับโครงการรัฐบาลที่อยู่ในระบบ จำนวน 80,000 ร้านค้า คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ และร้านค้าเพื่อรองรับประชาชน ประมาณ 102,000 ร้านค้า”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารกรุงไทย และ ททท. จะสาธิตการทำงานของระบบการลงทะเบียน ในโครงการ ชิมช้อปใช้ ก่อนจะเปิดรับสมัครจริงผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com ระหว่างวันที่ 23 ก.ย. 15 พ.ย. 2562 โดยจะรับสมัครวันละไม่เกิน 1 ล้านราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 ล้านราย โดยเมื่อลงทะเบียนเสร็จจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันสิทธิ์ภายใน 3 วัน ทั้งนี้เงินจำนวน 1,000 บาทงวดแรก เพื่อนำไปใช้ท่องเที่ยว กรมบัญชีกลางจะเริ่มเติมลงไปในแอปเป๋าตัง วันแรก 27 ก.ย.นี้
”ขณะนี้ยังไม่มีความคิดจะขยายระยะเวลาโครงการ ชิมช้อปใช้ ออกไปเพิ่ม และคาดว่าวิธีสนับสนุนเงินชดเชยเป็นจำนวน 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน ซึ่งจะได้รับการจ่ายคืนให้ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน หลังสิ้นสุดโครงการในเดือน ธ.ค. 2562 นั้น จะเป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด เพราะจะมีเงินลงกระจายไปยังระบบเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น การเติมน้ำมันรถ ธุรกิจสปา เป็นต้น”
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการ และร้านค้า กังวลว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการนี้และจะถูกเรียกเก็บเสียภาษีเพิ่มนั้น ขอให้สบายใจได้ เพราะข้อมูลทั้งหมดในโครงการนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร ดังนั้นจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีแน่นอน
“ส่วนวิธีสังเกตร้านในโครงการ ชิมช้อปใช้ ให้ดูจากสติกเกอร์ติดหน้าร้านตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้เมื่อสมัครผ่านเว็บชิมช้อปใช้แล้ว จะสามารถเห็นข้อมูลร้านค้าหรือโรงแรมต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ได้รับสิทธิ์ จะต้องใช้สิทธิ์ภายใน 14 วัน โดยถ้าหากลงทะเบียนแล้วไม่ได้ใช้สิทธิ์ภายในเวลาที่กำหนด จะลงชื่อซ้ำอีกครั้งไม่ได้”.