นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน 13 หน่วยงาน เพื่อระดมทุนขับเคลื่อนบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า อินโนสเปซ จะมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และทันสมัย เพื่อรองรับอนาคต โดยจะเป็นจุดเชื่อมโยงทุกกลไกในการสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพให้เพิ่มขึ้น เพื่อการเกิดขึ้นของยูนิคอร์นหรือสตาร์ตอัพที่มีรายได้ 1,000 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯขึ้นไป
“เป้าหมายของอินโนสเปซคือ เชื่อมโยงและเร่งให้เกิดสตาร์ตอัพโดยเร็ว เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต เพราะคนไทยมีความสามารถแต่ขาดโอกาส ประเทศอื่นสำเร็จกันเยอะ เช่น อิสราเอล มีสตาร์ตอัพมาก ส่วนจีนมีธุรกิจเล็กๆ มากมาย และจะกลายเป็นยูนิคอร์น ขณะที่ไทยวางเป้าจะไปถึงเช่นนั้น แต่ก่อนอื่นต้องสร้างสตาร์ตอัพให้ได้มากๆ แล้วค่อยดึงต่างชาติมาเป็นพันธมิตร นอกจาก 13 บริษัทคนไทยที่ร่วมระดมทุนแล้วยังมีหัวเว่ยสนใจเป็นพันธมิตร ส่วนไมโครซอฟต์ ซัมซุง กูเกิล กำลังจะตามมาสนับสนุนแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสตาร์ตอัพ โดยต้องการเพิ่มสัดส่วนสตาร์ตอัพเป็นหลักหมื่นหลักแสนราย และมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์”
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อินโนสเปซเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยง บูรณาการ และประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศด้านการลงทุน การบ่มเพาะธุรกิจ และองค์ความรู้ เป็นกลไกสร้างสตาร์ตอัพให้เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมาย 1 ปีจากนี้สร้างสตาร์ตอัพให้ได้ 300 ราย ซึ่งนอกจากการระดมทุนจาก 13 องค์กร รวม 515 ล้านบาทแล้ว ยังมีเอกชนรายอื่นที่สนใจอีก เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) วงเงิน 100 ล้านบาท ธนาคารออมสิน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น
ส่วนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ กล่าวว่า หลังจากนี้อินโนสเปซ จะเริ่มจ้างพนักงานเพื่อประสานความร่วมมือกับสตาร์ตอัพ เช่น สินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือระดมเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ “เราหวังจะสร้างสตาร์ตอัพให้ได้มากๆ เพื่อให้เกิดยูนิคอร์น ต่อไปจะลงนามความร่วมมือกับอิสราเอล ญี่ปุ่น ภายใน 1-2 เดือนนี้จะแต่งตั้งกรรมการบริหาร และกรรมการด้านการลงทุน จึงจะสรุปแนวทางการขับเคลื่อนได้”