ข่าวร้ายชาวสวนทุเรียน! มณฑลไหหลำทดลองปลูกได้สำเร็จแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ข่าวร้ายชาวสวนทุเรียน! มณฑลไหหลำทดลองปลูกได้สำเร็จแล้ว

Date Time: 6 ก.ย. 2562 08:20 น.

Summary

  • น.ส.วรรณลดา รัตนพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%


หวั่นแย่งตลาดไทยในจีนฉุดราคาตกต่ำ

น.ส.วรรณลดา รัตนพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ มณฑลไหหลำ ของจีนได้ทดลองปลูกทุเรียน โดยนำต้นทุเรียนพันธุ์ซันโน จากมาเลเซียมาเพาะปลูก และประสบความสำเร็จแล้ว หากจีนวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง ในอนาคตอาจแย่งตลาดทุเรียนสดของไทยในจีนได้ ดังนั้น เกษตรกรและผู้ส่งออกต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานให้อยู่ในระดับพรีเมียม เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีน จากปัจจุบันทุเรียนสดในจีน กว่า 80% นำเข้าจากไทย

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลไหหลำ ระบุว่า ไหหลำปลูกทุเรียนมาหลายสิบปีแล้ว แต่ผลผลิตยังต่ำ รสชาติไม่ดีมาก จึงไม่ได้เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย แม้ประสบความสำเร็จในการทดลองปลูก แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เพราะไม่สามารถควบคุมภูมิอากาศได้เหมือนในแปลงทดลอง เกษตรกรจึงไม่ควรจะรีบนำต้นกล้าไปปลูก เพราะการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ต้องใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยว 4-8 ปี

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หากจีนปลูกทุเรียนและมีผลผลิตออกมาดีทั้งคุณภาพและปริมาณ จะกระทบต่อราคาทุเรียนและยอดส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแน่นอน จึงต้องการให้เกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์ และมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ดีในการผลิต (จีเอ็มพี) และการมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) หากไม่มี 2 มาตรฐานนี้จะส่งออกไปจีนไม่ได้ นอกจากนี้ หลายประเทศได้พัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนเพื่อแข่งขันกับไทย เช่น เวียดนามที่ส่งออกทุเรียนไปจีนแล้ววันละ 500 ตัน ขณะที่มาเลเซียโปรโมตว่า ทุเรียนพันธุ์มูซานคิง คุณภาพดีที่สุดในโลก และได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดทุเรียนโลก แต่ยังด้อยกว่าไทยในด้านปริมาณผลผลิต

“เป็นห่วงทุเรียนไทย เพราะเกือบทุกจังหวัดปลูกทุเรียนหมดแล้ว เกษตรกรจำนวนมากโค่นยางพารา และพืชอื่นเพื่อปลูกทุเรียน เพราะราคาดี และเป็นที่สนใจของจีน หากไทยไม่พัฒนาสายพันธุ์ และไม่นำทุเรียนไปขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในอนาคตราคาทุเรียนอาจตกต่ำได้ ซึ่งจะสวนทางกับทุเรียนของประเทศอื่น ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์และพัฒนามาตรฐาน ทำให้ราคาสูงขึ้นได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ