“สศช.” ชี้ภาคส่งออกทรุดกระทบแรงงาน 5.1 ล้านคน ส่วนภัยแล้งฉุดจ้างงานภาคเกษตรลดวูบพร้อมจับตาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 1/62 สูงถึง 13 ล้านล้านบาท หรือ 78.7% ของจีดีพีดันไทยทะยานสู่อันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลกหนี้ครัวเรือนสูงสุดและเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/62 ว่า มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน การจ้างงานลดลง 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง 4% จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรที่การจ้างงานลดลงนั้น ล้วนเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกที่หดตัวลงมาก เช่น สาขาค้าส่ง ค้าปลีก ลดลง 0.4% และสาขาการผลิตลดลง 0.5% ส่วนสาขาท่องเที่ยวกลับมาสู่ปกติแล้ว ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานรอฤดูกาล 263,000 คน เพิ่มขึ้น 40.3% เพราะภัยแล้งทำให้แรงงานภาคเกษตรไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มที่
“สาขาส่งออกที่หดตัวมากในครึ่งปีแรก ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรและชิ้นส่วน รถยนต์นั่ง เครื่องจักรอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะกระทบแรงงาน 5.1 ล้านคน แต่จากการที่รัฐบาลออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคงจะกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศได้”
ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การบริการจัดส่งสินค้าด่วนถึงที่ ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมน แกร๊บ ฟู้ดแพนด้า เก็ต และสกูต้าร์ เฉพาะไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึง 7.2% ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมดูแลให้ครอบคลุมการจ้างงานประเภทใหม่ๆ เพื่อให้การทำงานภายใต้การจ้างงานที่ผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานทั่วไป
นายทศพรกล่าวต่อถึงหนี้สินครัวเรือนซึ่งข้อมูลล่าสุดมีถึงไตรมาส 1/62 ว่า มีสูงถึง 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็น 78.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/60 ส่งผลให้ไทยอยู่ในอับดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลกที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด และอันดับ 2 ในเอเชีย จาก 22 ประเทศ ขณะที่ไตรมาส 2/62 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มถึง 9.2% ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ขยายตัว 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ขยายตัว 7.8% และ 10.2%
“ในภาพรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพสูงขึ้น โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคไตรมาส 2/62 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 2.74% ของสินเชื่อรวม และ 2.75% ต่อเอ็นพีแอลรวม โดยยอดคงค้างเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 32.3% และ 12.5% ตามลำดับ เช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคลที่ยังสูง และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่วนช่วงครึ่งหลังปี 62 คาดว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอลง เพราะความต้องการลดลง และสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้ แต่มีแนวโน้มเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น”.