ปรากฏการณ์ข้าวเหนียวแพงขึ้นมากอย่างผิดปกติในรอบ 10 ปี เพราะภัยแล้งเป็นปัจจัยหลัก ราคาสูงขึ้นเกือบตันละ 2 หมื่นบาท จากเดิมราคา 9 พันบาทถึง 1.2 หมื่นบาทต่อตัน กระทบร้านค้าต้องขยับราคาขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นสูง
"ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับ "รศ.สมพร อิศวิลานนท์" นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งระบุปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวมีทั้งหมด 16 ล้านไร่ ปลูกมากในฤดูนาปี หากเทียบกับเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 18 ล้านไร่ ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ข้าวเหนียวราคาแพง เนื่องจากพื้นที่ปลูกในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนบนเกิดภัยแล้งมาเกือบ 3 ปี โดยภาคเหนืออาจแล้งน้อยกว่าภาคอีสาน ทำให้ผลผลิตเหลือเพียง 6 กว่าล้านตันข้าวเปลือก หรือเมื่อนำมาสีแล้วจะได้ประมาณ 3.5-3.7 ล้านตัน ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 3.2 ล้านแสนตัน ที่เหลือส่งออกนอกประเทศ
อีกทั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้วข้าวหอมมะลิได้รับความนิยมจากตลาด ทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้นเพื่อนำไปขาย และปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งมีส่วนน้อยนำไปขายโรงสี โดยโรงสีจะเลือกข้าวเหนียวพรีเมียมเฉพาะข้าวเหนียวเขาวงและเขี้ยวงู โดยขณะนี้ราคาเขยิบจาก 30 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นมาเป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อไปทำข้าวเหนียวมะม่วงและทำขนม เพราะมีเม็ดยาวและนุ่ม ในขณะที่ผู้บริโภคจะหันมาซื้อข้าวเหนียวแบบธรรมดา เพราะราคาถูกกว่า หรือเปลี่ยนไปกินข้าวเจ้าแทน ในช่วงข้าวเหนียวราคาแพง รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าข้าวเหนียวถูกจากเพื่อนบ้านเข้ามาขายราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม
"ปีนี้เกิดภาวะแล้งกลางฤดูฝน และคาดว่ารุนแรงกว่าทุกๆปี ทําให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวในภาพรวมลดตำ่ลงกว่าทุกปี เพราะภัยแล้งได้สร้างความเสียหายเกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งคนที่ปลูกไม่นำข้าวออกขาย ยังคงเก็บในยุ้งฉาง เพื่อกินในครอบครัวให้ได้นานๆ จนข้าวเก่าใกล้หมด เพราะแล้งมา 2 ปี ส่งผลให้ข้าวในตลาดขาดแคลน ต้องรอผลผลิตข้าวเหนียวรอบใหม่ และไม่แน่ใจว่าผลผลิตข้าวจะดีหรือไม่ในอีก 2-3 เดือน หากฝนตกลงมา อาจมีผลผลิตทยอยออกมา แต่หากแล้งอีก ข้าวเหนียวก็จะราคาสูง"
สำหรับตลาดข้าวเปลือกเหนียวจะมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นโรงสีข้าวเหนียว และผู้ประกอบการค้าข้าวเปลือกเหนียว เป็นผู้รวบรวมข้าวเปลือกเหนียวจากเกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและจะรวบรวมเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้เพื่อการเก็งกําไรเมื่อราคาสูงขึ้นในปลายฤดู เมื่อมีอุปทานผลผลิตน้อย เพราะข้าวเหนียวที่นิยมเพื่อการบริโภคเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกได้ปีละครั้ง ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้ จึงทําให้ตลาดการค้าข้าวเปลือกเหนียวและโรงสีข้าวเหนียวหันมาเก็บสต็อกข้าวเหนียวให้ยาวขึ้นกว่าเดิม และส่งผลให้ปริมาณอุปทานข้าวเปลือกเหนียวที่ออกสู่ตลาดมีลดลง
นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมโรงสีได้รายงานว่า ราคาข้าวเปลือกเหนียว กข 6 ได้ปรับตัวเฉลี่ยจาก 11,850 บาทต่อตันข้าวเปลือก ในปี 2561 มาเป็น 1.4 หมื่น-1.45 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2562 และได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 1.6 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก ในต้นสัปดาห์ของเดือนกรกฎาคม และปรับตัวสูงขึ้นอีกเป็น 2 หมื่นบาทในกลางเดือน ส.ค. 2562
ทั้งนี้จะเห็นว่าราคาเฉลี่ยปี 2561 จนถึงกลางเดือน ส.ค. 2562 ราคาข้าวเหนียว กข 6 ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วเกือบร้อยละ 70 ซึ่งราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้จะแกว่งตัวไปสักระยะหนึ่ง แล้วจะมีทิศทางที่ลดลง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกข้าวเหนียวกันมากขึ้นเพราะเห็นว่าได้ราคาดี รวมถึงมีการลักลอบนําเข้าจากชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่ข้าวเหนียวมีราคาต่ำกว่า ซึ่งจะมีผลทําให้ระดับราคาข้าวเหนียวลดลงได้
“ผมไม่วิตกเหมือนรัฐบาลที่ขณะนี้โอเวอร์แอ็กชั่น ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างที่ทำอยู่ ทั้งการเช็กสต็อกหาว่าโรงสีกักตุน และทำข้าวถุงขาย เพราะข้าวเหนียวใช้กินในประเทศ โดยครัวเรือนเก็บไว้เองเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากฟ้าฝนดีในเดือนนี้การคาดการณ์ว่าจะไม่มีข้าวสารกินในครัวเรือนจะหมดความวิตกลง และจะขายผลผลิตออกมา ขณะเดียวกันผู้บริโภคในเมือง สามารถใช้ข้าวสารเจ้าทดแทนในการบริโภคได้ ดังนั้นรัฐบาลควรปล่อยให้เป็นโอกาสของชาวนา และต้องเข้าใจตลาด เกรงว่าจะยิ่งแก้จะยิ่งเป็นปัญหา นานๆ คนอีสานจะได้ขายข้าวราคาดี ช่วยยกระดับการเป็นอยู่ แต่กลับมาตบราคาให้ลดลง จากการเข้ามาแทรกแซง ดูเหมือนเป็นนโยบายที่รวนเร สวนกับสิ่งที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม"
พร้อมมองว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าราคาข้าวเหนียวจะลงมาเอง โดยราคาที่สูงขึ้นจะแค่ชั่วคราว ซึ่งรัฐบาลควรจะหาวิธีว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวได้มีคุณภาพมากกว่า สามารถให้ทนแล้งได้ จากสภาวะอากาศในปัจจุบันมีความปรวนแปรคาดเดาได้ยาก และขอให้เกษตรกรต้องพึงระวังว่าข้าวเหนียวที่มีราคาดี คือข้าวเหนียวพื้นเมืองไม่ไวแสง หรือข้าวเหนียวเมล็ดยาว หากมีการขยายการผลิตข้าวเหนียวที่ปลูกได้มากกว่าหนึ่งครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทานจะประสบปัญหาทางการตลาดและราคาตามมา เพราะตลาดข้าวเหนียวคุณภาพต่ำพันธุ์ไม่ไวแสง เป็นสินค้าที่มีตลาดจํากัดและไม่เป็นที่นิยมในการบริโภค แต่จะเกิดการปลอมปนกับข้าวเหนียวคุณภาพ ซึ่งจะเกิดผลเสียในตลาดข้าวเหนียวคุณภาพตามมา.