นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานฯ ว่า
ที่ประชุมได้รับฟังข้อมูลทั้งหมดจาก กทพ. และบีอีเอ็ม ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้พิจารณาจากข้อมูลที่มี โดยจะเสนอทางเลือก 3 แนวทางต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาในวันนี้ (27 ส.ค.) ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยหนึ่งในนั้นคือ การต่ออายุสัมปทานทางด่วน ส่วนที่เหลือเป็นแนวทางใหม่ ที่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม เกิดจากโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) โดยมีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ คือ ผลกระทบการสร้างทางแข่งขัน กรณีรัฐก่อสร้างดอนเมืองโทลเวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน และกรณีไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามที่ระบุในสัญญา เป็นเหตุให้บีอีเอ็มฟ้องร้อง กทพ. มีมูลค่าข้อพิพาทจาก 2 ประเด็น รวมทั้งประเด็นอื่นๆ จำนวน 137,517 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน กทพ.และบีอีเอ็มได้เจรจาปรับลดมูลหนี้เหลือ 58,000 ล้านบาท
สำหรับทางเลือกที่คณะทำงานฯเตรียมนำเสนอให้นายศักดิ์สยามพิจารณา ประกอบด้วย 1.ทางเลือกเดิมจากมติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. คือ ขยายระยะเวลาสัมปทาน 3 โครงการ 30 ปี ส่วนอีก 2 แนวทางใหม่ ตามนโยบายที่ รมว.คมนาคม ได้สั่งการ เช่น ชดใช้เงินตามที่ศาลตัดสิน แต่ขอให้ กทพ.คำนวณวงเงินที่จะต้องจ่ายในแต่ละปีว่ามาจากแหล่งใด และคำนวณดอกเบี้ยด้วย เนื่องจากต้องการให้ทยอยจ่าย เพื่อไม่กระทบฐานะทางการเงินและอีกแนวทาง คือ กรณีไม่จ่ายชดเชย แต่ต่อสัมปทาน เอกชนจะสามารถลดค่าผ่านทางเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพิ่มเติมได้หรือไม่ พร้อมทั้งต้องคำนวณแบ่งสัดส่วนรายได้กันใหม่ โดยรัฐต้องไม่เสียเปรียบ.