เศรษฐกิจไทย “Recession”!!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทย “Recession”!!

Date Time: 27 ส.ค. 2562 05:15 น.

Summary

  • เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างแถลงข่าวตัวเลขจีดีพี “วิชญายุทธ บุญชิต” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างแถลงข่าวตัวเลขจีดีพี “วิชญายุทธ บุญชิต” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า จีดีพี ไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.3% เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.7% และยังลดลงต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว 2557

ยังไม่ถือว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “Recession”

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมีความกังวลเรื่องทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าว่าจะเป็นอย่างไรเพราะปัญหาต่างๆมากมาย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ความไม่สงบและการออกมาประท้วงของประชาชนชาวฮ่องกง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงในสหภาพยุโรปและอังกฤษ ก็ยังอยู่ในช่วงของความยากลำบากที่ต้องเข้าสู่กระบวนการเบร็กซิต (Brexit) หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

น่าจะเป็นคำถามคำโตๆที่หลายคนอยากรู้ว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession แล้วหรือยัง

โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียนตำราเล่มเดียวกัน ระบุว่า Recession หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเป็นการหดตัวของวัฏจักรธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวโดยรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจมหภาพ อย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รายจ่ายการลงทุน กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รายได้ครัวเรือน กำไรธุรกิจและเงินเฟ้อลดลง การล้มละลายของภาคธุรกิจมีมากขึ้น และอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันถือว่า “Recession”

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น ในเมื่อเศรษฐกิจไทยเกิดภาวะถดถอยขึ้นมาแล้ว รัฐบาลภายใต้การดูแลเศรษฐกิจของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และ “อุตตม สาวนายน” จะมีนโยบายในการดูแลประชาชนภายในประเทศให้มีภูมิต้านทาน สามารถเข้าสู้ภาวะเศรษฐกิจที่โหดร้ายเช่นนี้ได้หรือไม่

เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยนั้น แม้สภาพัฒน์จะชี้ว่า ยังไม่เกิดขึ้นจริงในวันนี้

แต่เริ่มมีสัญญาณร้ายหลายๆตัวที่มองเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า ได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก เช่น สหรัฐฯตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2008-2009 (2551-2552) ผ่านพ้นมานานถึง 10 ปีแล้ว จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดๆ ซึ่งได้รับการแก้ไขโดยมาตรการ Quantitative Easing หรือ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งทะยานจากระดับ 10,000 จุดมาแตะ 25,000-26,000 จุดในปัจจุบันนั้น แต่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ปีนี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งวัน ดาวโจนส์ปรับลดถึง 1,175 จุด หลังจากนั้นเป็นต้นมา ดัชนีดาวโจนส์ก็เคลื่อนไหวอย่างผิดปกติขึ้น-ลงวันละ 500-600 จุด แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลงแล้ว

ขณะที่เศรษฐกิจของเยอรมัน ซึ่งเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และแข็งแรงที่สุดของโลก ได้ประกาศการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาแล้วว่า ขยายตัวเพียง 0.1% มีโอกาสติดลบไตรมาส 3 ใกล้เป็น Recession อิตาลี ไตรมาส 2 ขยายตัว 0% ฝรั่งเศสไตรมาส 2 ขยายตัวได้เพียง 0.2% ก็เป็นลางร้ายเช่นเดียวกัน

สำหรับเศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 6.1% แต่ลดลงจากที่เคยขยายตัว 10% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ ขยายตัว 3.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.6%

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซวนเซและกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยใช้เม็ดเงินจากงบประมาณ และนอกงบประมาณ (ธนาคารเฉพาะกิจปล่อยกู้) 3.16 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมีมูลค่าถึง 16 ล้านล้านบาทหรือไม่

คำตอบคือ ไม่ต่างกับ “เข็นครกขึ้นภูเขา” เพราะทุกๆประเทศอยู่ในภาวะ “ลงเรือลำเดียวกัน” มีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจำนวนมากและทำอย่างต่อเนื่อง และลดอัตราดอกเบี้ยเหมือนกันหมด

แต่สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยน่าจะสาหัสกว่าประเทศอื่นๆ เพราะสัญญาณที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อต้นเดือน ส.ค. แทบจะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นเลย เงินบาทก็ยังแข็งค่าอยู่ที่ 30 บาท จาก 41-42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ เงินหยวนของจีน และเงินเยนของญี่ปุ่น แข็งค่าเพียงเล็กน้อยจาก 5 บาท มาอยู่ที่ 4.35 บาทต่อหยวน เงินเยนจาก 30-31 บาทต่อ 100 เยน วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29 บาทต่อ 100 เยน

ผลที่เกิดขึ้นตามมาในอนาคตคือ จะไม่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในไทยอีกต่อไป เพราะปีที่แล้วขายสินค้าได้หนึ่งชิ้นรับเงิน 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปีนี้ หากขายสินค้าได้เท่าเดิม ก็เท่ากับขาดทุนไปแล้ว 10 บาท

ในท้ายที่สุดนี้ก็ได้แต่หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท จะได้ผลอย่างที่ฝันหวาน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะค่อยๆอ่อนลง เศรษฐกิจไทยไม่เกิด Recession แต่หากไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว โอกาสที่เศรษฐกิจ ไทยจะ Crisis หรือ “วิกฤติ” ก็เป็นได้.

วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ