กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) จับมือ สภาอุตสาหกรรมฯ สร้างคนสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตั้งกองทุนนวัตกรรมให้สิทธิประโยชน์ภาษี 30% กับเอกชนที่บริจาคเข้ากองทุนฯ ผุด "อะคาเดมี่" กำหนดอาชีพแห่งอนาคต
วันที่ 22 ส.ค. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนนำคณะผู้บริหาร อว.ร่วมประชุมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง การเตรียมอุตสาหกรรมไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้ วทน. หรือ วิทยาศาตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย ส.อ.ท.ขอเสนอให้ อว.ช่วยดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.ให้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ที่มีข้อจำกัดเรื่องนวัตกรรมด้วยกลไกตลาดและทุนสนับสนุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้มีการตั้งกองทุนนวัตกรรม และให้มีนักวิจัยมาช่วยประเมินศักยภาพของเอสเอ็มอี
2.ให้มีการพัฒนานวัตกรรมชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดย ส.อ.ท.จะมีโครงการ 1 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่อ 1 สถาบันอุดมศึกษาต่อ 1 นวัตกรรมชุมชน เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือโอทอป โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 8,898 ราย และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 1,411 ราย เพื่อยกระดับรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ลดหนี้ และลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนมีรายได้อย่างน้อย 1 แสนบาทต่อปี
3.พัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG โมเดล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
และ 4.ให้มีการยกระดับทักษะความสามารถแรงงานไทย โดยขอให้ อว.ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ขณะที่ ส.อ.ท.จะมีการตั้งอะคาเดมี่ขึ้นมาดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ เทคโนโลยีดิจิตัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กระบวนการผลิตอาหาร โดยจะทำร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น ขอให้นักศึกษามาฝึกงานจริงก่อนจบการศึกษา 1 ปี แทนที่จะเป็น 4 เดือน เพราะที่ผ่านมาแรงงานไทยค่อนข้างขาดทักษะ เรียนมาแล้วทำงานไม่ได้ เป็นต้น
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ส.อ.ท. เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เรื่องแรก การตั้งกองทุนนวัตกรรม เรื่องขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 30% สำหรับเอกชนที่บริจาคเงินเข้ากองทุนนวัตกรรม สามารถดำเนินการได้ทันที และจะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง อว.และ ส.อ.ท. โดยมอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ผลักดันบัญชีนวัตกรรมปลดล็อกข้อจำกัดที่เคยมี และขยายผลการใช้บัญชีนวัตกรรม
เรื่องที่สอง ให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันผลักดันเรื่องสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เอสเอ็มอี การสร้างวิสาหกิจชุมชนในการสร้างเทคโนโลยี เรื่องที่สาม มอบให้ ส.อ.ท.กำหนดเป้าหมายย่อยใน BCG โมเดล ให้ชัดเจนทั้งกลุ่มเกษตร อาหาร พลังงาน และวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ วางแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มภายใน 3–5 ปี โดย อว.จะสนับสนุน
และเรื่องที่สี่ เห็นด้วยกับการตั้งอะคาเดมี่และให้ภาคอุตสาหกรรมตั้งโจทย์ตามความต้องการเพื่อนำไปสู่การกำหนดอาชีพแห่งอนาคต และพัฒนาทักษะใหม่ให้กับของมหาวิทยาลัย พร้อมปลดล็อกระยะเวลาการอนุมัติหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ทั้งจะมอบให้หน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกับ ส.อ.ท. เพื่อผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับ หรือการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ด้วย วทน. ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.