ประกันราคาข้าว 2.1 หมื่นล้าน รวม 5 ชนิด ซับน้ำตาชาวนา 3.9 ล้านครัวเรือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประกันราคาข้าว 2.1 หมื่นล้าน รวม 5 ชนิด ซับน้ำตาชาวนา 3.9 ล้านครัวเรือน

Date Time: 22 ส.ค. 2562 08:40 น.

Summary

  • นบข.จัดเต็มวงเงินประกันราคาข้าว 2.1 หมื่นล้าน สำหรับข้าว 5 ชนิด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3.9 ล้านครัวเรือน สมาคมผู้ส่งออกข้าว ระบุเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เพราะระยะยาวต้องการเห็นยุทธศาสตร์

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้


นบข.จัดเต็มวงเงินประกันราคาข้าว 2.1 หมื่นล้าน สำหรับข้าว 5 ชนิด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3.9 ล้านครัวเรือน สมาคมผู้ส่งออกข้าว ระบุเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เพราะระยะยาวต้องการเห็นยุทธศาสตร์พัฒนาสายพันธุ์ ฯลฯ แนะพาณิชย์เร่งรัดแผนส่งออกและฟื้นความเชื่อมั่นคุณภาพข้าวไทยด่วน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิต 2562/63 วงเงิน 21,000 ล้านบาท คาดว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ 3.9 ล้านครัวเรือน และตนจะนำมติ นบข.ครั้งนี้ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโดยเร็ว

แนวทางดังกล่าว เป็นการรับประกันรายได้เกษตรกรสำหรับข้าว 5 ชนิด ได้แก่ 1. ข้าวเจ้า ประกันรายได้ 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 2. ข้าวเหนียว ประกันรายได้ 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 3. ข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 4. ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ประกันรายได้ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตันหรือไม่เกิน 40 ไร่ 5. ข้าวหอมปทุม ประกันรายได้ 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน หรือไม่เกิน 10 ไร่

“การประกันรายได้ราคาข้าว เกษตรกรต้องลงทะเบียนร่วมโครงการ กับกรมส่งเสริมการเกษตรหลังทำการเพาะปลูก 15-60 วัน โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 เม.ย. ถึง 31 ต.ค. 2562 ส่วนภาคใต้จะเริ่ม วันที่ 16 มิ.ย.-28 ก.พ.2563 ส่วนข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่เสนอโครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ที่ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 20 ไร่ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการ และให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ไปหารือกับสำนักงบประมาณถึงงบที่จะใช้ในส่วนนี้ต่อไป”

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวนา โดยการประกันราคาข้าว ถือว่าเป็นมาตรการระยะ สั้น ที่ช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้ที่แน่นอน แต่ระยะยาวอยากเห็นการพัฒนาพันธุ์ข้าว การปลูกข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออกและแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆได้ ส่วนการส่งออกข้าวให้ได้ปริมาณและ มูลค่าการส่งออก ที่เพิ่มขึ้นได้หารือกับ รมว.พาณิชย์ว่าต้องมีการเร่งรัดแผนการส่งออกและฟื้นความเชื่อมั่นคุณภาพข้าวไทย ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ส่วนแรก ที่จะดำเนินการคือ เดินทางไปยังประเทศที่เป็นลูกค้า ที่มีการสั่งข้าวไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่นที่สั่งข้าวคุณภาพดีจากไทยปีละ 300,000 ตัน รวมทั้งเดินทางไปตะวันออกกลาง ได้แก่ อิรัก อิหร่าน ที่ในอดีตมีการนำเข้าข้าวจากไทยปีละ 800,000 ตัน ซึ่งหากมีการไปฟื้นความร่วมมือตลาดเหล่านี้ จะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ขณะที่คำสั่งซื้อข้าวที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ระหว่างไทยกับจีนที่มีสัญญากันอยู่ ขณะนี้ไทยส่งข้าวไปแล้ว 1.7 ล้านตัน ยังคงเหลือปริมาณที่ต้องส่งมอบให้กับจีนในส่วนนี้อีก 300,000 ตัน ซึ่งภาครัฐอาจต้องช่วยเร่ง ให้มีการนำเข้าจากจีน ให้ครบตามจำนวนที่ทำสัญญากันไว้

สำหรับสถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทยประจำปี 2562/63 พบว่าปริมาณผลผลิตข้าวลดลง 760,000 ตัน หรือ 0.15% ปริมาณการปลูกข้าว ที่ลดลงมาจากปรับโครงสร้างการเพาะปลูก ในขณะที่สหรัฐฯเกษตรกรหันไปปลูกข้าวชนิดอื่นๆที่ราคาดีกว่า ส่วนการบริโภคข้าวในปีการผลิตนี้ จะมีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์

“ในปี 2562/63 คาดว่าปริมาณการค้าข้าว ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน 0.62 ล้านตัน จาก 43.6 ล้านตัน เพิ่มเป็น 49.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.34% โดยประเทศที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย แคเมอรูน และเบนิน ส่วนสต็อกข้าวในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้น 3.36 ล้านตัน หรือ1.96% จากปีก่อน”

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ของผู้ส่งออกข้าวทั่วโลก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.พบว่าปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลกลดลง 4.89% ซึ่งประเทศไทยส่งออกลดลง 22.38% มูลค่าการส่งออกลดลง 17.07% เป็นปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 6.15 ล้านตัน เหลือ 5.27 ล้านตันมูลค่าการส่งออก 88,000 ล้านบาท และไทยถือว่าส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก รองลงจากอินเดียที่ส่งออกข้าว 8 เดือนแรกของปีนี้ 7 ล้านตันในตลาดโลก

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ภัยแล้งที่รุนแรงปีนี้ คาดว่าผลผลิตทางการเกษตร ได้รับผลกระทบเสียหายจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ในระดับราคาที่สูงมาก แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเกษตรกรไม่มีสินค้าจำหน่าย เพราะแม้มีการประกันรายได้ เกษตรกรก็ไม่ได้มีส่วนได้เสีย ส่งผลให้ปีนี้ จะเป็นปีที่เกษตรกรไทยอยู่ด้วยความลำบาก เพราะรายได้ไม่มีเพียงพอจะชำระหนี้สินที่มีอยู่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ