รื้อสูตรโครงสร้างต้นทุนราคายา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รื้อสูตรโครงสร้างต้นทุนราคายา

Date Time: 20 ส.ค. 2562 07:30 น.

Summary

  • นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายยาได้จัดส่งข้อมูลราคาซื้อ และขายยามาให้กรมเมื่อวันที่ 31 ก.ค.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายยาได้จัดส่งข้อมูลราคาซื้อ และขายยามาให้กรมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ขณะนี้กรมได้นำข้อมูลมาจัดทำโครงสร้างต้นทุน โดยเปรียบเทียบกับราคาของโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้รู้ว่า ยาแต่ละชนิดมีต้นทุนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยโครงสร้างต้นทุนยามาก่อน โรงพยาบาลจะคิดราคาขายเท่าไรก็ได้ และมักนำค่าใช้จ่ายอื่นๆมาบวกเพิ่มในราคาขายด้วย เช่น ค่าเภสัชกร ค่าเก็บรักษา ส่งผลให้ราคายาสูงเกินจริง

“โครงสร้างต้นทุนไม่ได้ดูของโรงพยาบาลเดียว แต่ต้องเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละโรงพยาบาลมีกำไรเท่าไร ราคาอะไรเป็นกลาง ใครที่ต่างจากคนอื่นก็จะเชิญมาหารือ ทำไมคิดแพงกว่า ถ้าชี้แจงไม่ได้จะส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่มีความผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ ในระหว่างจัดทำโครงสร้างต้นทุนอยู่นี้ กรมจะนำเอาราคายาของแต่ละโรงพยาบาลมาเปรียบเทียบกัน หากพบว่าโรงพยาบาลใดขายราคาสูงกว่าเกณฑ์ก็จะเชิญชี้แจงด้วยเช่นกัน โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วย หรือประชาชนร้องเรียนเข้ามา หากพบสูงเกินจริง จะมีความผิดด้วย และในเร็วๆนี้กรมจะเผยแพร่รายชื่อร้านขายยา ที่ได้มาตรฐานทางเว็บไซต์ www.dit.go.th เพื่อให้ประชาชนนำใบสั่งยาจากโรงพยาบาลมาซื้อยาได้เอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลมักอ้างว่า ร้านขายยาที่มีมาตรฐานมีน้อย จ่ายยาไม่ได้เหมือนโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการขอข้อมูลจากสภาเภสัชกรรม

ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.เป็นต้นมา กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนว่ามีการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไว้ตามจุดต่างๆในโรงพยาบาลที่เห็นได้ชัดเจน เช่น เคาน์เตอร์จ่ายยา เคาน์เตอร์จ่ายเงิน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการในโรงพยาบาลสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคายาแต่ละชนิดที่ขายในโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งแล้วหรือไม่ และพบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือติดตั้งคิวอาร์โค้ด และประชาชนสามารถตรวจสอบราคายาได้เอง จากเว็บไซต์ www.hospitals.dit.go.th

“คิวอาร์โค้ดนี้ กรมส่งไปให้โรงพยาบาลทุกแห่งติดตั้ง และราคายาที่ปรากฏในคิวอาร์โค้ดเป็นราคาซื้อและขาย ที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรม โดยเป็นราคาที่โรงพยาบาลผูกพันว่าจะขาย ถ้าขายสูงเกินกว่าที่ราคาที่ส่งมาให้กรม จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนโรงพยาบาลที่ไม่ได้ส่งข้อมูลมาให้กรม รวม 20 ราย กรมได้ทยอยออกหนังสือเรียก เพื่อให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว หากไม่มาชี้แจงมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากส่งข้อมูลล่าช้าถูกปรับวันละ 2,000 บาท จนกว่าจะส่งข้อมูลมาให้ครบถ้วน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ