สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้ โตแค่ 2.3% ต่ำสุดรอบ 19 ไตรมาส พร้อมปรับลดเป้าขยายตัวเหลือ 2.7-3.2% จากเดิมคาด 3.3-3.8% คาดมาตรการพยุงเศรษฐกิจดันโตได้แน่ 3% ส่วนปีหน้าขยายตัว 3.5% ขณะที่ทีเอ็มบีหั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 2.7% เหตุปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศกดดันหนัก ส่วน ธปท.เตรียมลดเป้าจีดีพีลงอีก แต่ย้ำเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่เข้าสู่วิกฤติเหมือนปี 40
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 62 เป็นเติบโต 2.7-3.2% มีค่ากลาง 3% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3-3.8% เพราะไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 63 คาดขยายตัว 3-4% มีค่ากลาง 3.5% สำหรับเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 57 แต่คาดว่า ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวต่ำสุดในปีนี้แล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจด้านต่างๆ วงเงินรวม 316,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ได้
“สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจลดลงมาจากส่งออกติดลบ 4.2% และเศรษฐกิจโลกชะลอ ส่วนปัจจัยสนับสนุนมาจากการบริโภคเอกชนครึ่งปีแรก ขยายตัว 4.6% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.7% และการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว 4% อย่างไรก็ตาม หากไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจขยายตัวได้ไตรมาสละ 3% เมื่อรวมทั้งปี น่าจะขยายตัวได้ 3% เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเป็นแพ็กเกจ ถ้าไม่มีมาตรการใดๆ เลยขยายตัวไม่ถึง 3% แน่”
ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 62 รัฐบาลควรขับเคลื่อนการส่งออก, สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ, สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน, ดูแลเกษตรกร แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี เป็นต้น ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% จากไตรมาสแรกโต 2.8% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากเกินไป ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาจะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 0.55-0.56%
ส่วนนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์ฯได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจปี 62 เหลือ 2.7% จากเดิม 3.0% เพราะการส่งออกหดตัว 2.7% จำนวนนักท่องเที่ยว ขยายตัว 2% ชะลอลงจากปี 61 ที่ขยายตัว 7.5% การลงทุนภาครัฐ ชะลอกว่าคาด เพราะรองบประมาณปี 63 ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน อาจไม่ขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังมีเพียงการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยทั้งปีคาดขยายตัวได้ 3.8%
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้า เตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากที่คาดไว้ 3.3% เพราะความเสี่ยงทั้งภายในและนอกมีความรุนแรงขึ้น แต่ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติ หรือเป็นเหมือนกับปี 40 เพราะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ระบบการเงิน และสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง โดยการขยายตัว 3% ถือว่าไม่เลวร้าย.