"กำพล" คนหนังสือพิมพ์ที่โลกต้องจำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"กำพล" คนหนังสือพิมพ์ที่โลกต้องจำ

Date Time: 19 ส.ค. 2562 05:30 น.

Summary

  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และไทยรัฐกรุ๊ป จะจัดงานสำคัญ และยิ่งใหญ่ในวันนี้ (19 ส.ค.) เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะเจ้าของ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และไทยรัฐกรุ๊ป จะจัดงานสำคัญ และยิ่งใหญ่ในวันนี้ (19 ส.ค.) เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะเจ้าของ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศ และในภูมิภาคเดียวกันนี้ ตลอดจนถึงการเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐภายใต้จิตสำนึกที่มั่นคงในอันที่จะช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในชนบทให้มีที่เรียนหนังสือเพื่อเติบโตเป็นเยาวชนที่แข็งแกร่งของประเทศชาติในอนาคต

งานสำคัญและยิ่งใหญ่นี้ ก็คือ งานประกาศเกียรติคุณของ องค์การยูเนสโก หรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณให้แก่ นายกำพล วัชรพล ในฐานะเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา และสื่อสารมวลชน ในวันที่ 19 สิงหาคม 2562

ในงานนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รักษาการประธานองคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในงานประกาศเกียรติคุณขององค์การยูเนสโก ให้แก่นายกำพล ด้วย

เมื่อพูดถึงความเป็นคนหนังสือพิมพ์ นายกำพลได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของคนหนังสือพิมพ์ที่แท้จริง เริ่มตั้งแต่ในวัยหนุ่มที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และค้นคว้าหาหนังสือดีๆที่อยากจะให้คนไทยทั่วประเทศได้รับรู้เหมือนๆกับเขาด้วย จากเล่มแรก “นรกใต้ดินไทย” กระทั่งถึงข่าวภาพ จวบจนเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เขาร่วมสร้างขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่กันมากับ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และ นายเลิศ อัศวเวศน์

เมื่อมีความมุ่งมั่นที่จะได้เห็นคนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเป็นจริงในสังคม รวมถึงการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ข้อคิดแก่ประชาชนคนอ่าน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงเป็นฉบับเดียวที่เดินหน้าแสวงหาความจริง และข้อมูลข่าวสาร รวมถึงบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆอย่างทระนง

ในเวลาเดียวกัน ก็ลงไปดูพื้นที่ห่างไกลในชนบทเพื่อหาพื้นที่ที่จะสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กยากจน และด้อยโอกาสเพื่อจะได้ร่ำเรียนหนังสือ และเติบใหญ่เป็นคนดีของประเทศ นายกำพลมักจะบุกป่าฝ่าดงไปในพื้นที่ทุรกันดาร หุบเหว ไปในโรงเรียนอาคารเรียนผุพัง บางแห่งเป็นเพิงไม้ เด็กนักเรียนไม่มีเสื้อผ้า หรือรองเท้าใส่ หรือแม้แต่พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจนบ้านเรือนหลายหลัง และโรงเรียนต่างพังลงจนแทบฟื้นฟูไม่ได้ แต่เขาก็มุ่งมั่นที่จะเข้าไปฟื้นฟู

ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิไทยรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแล และบริหารโรงเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในจำนวน 101 แห่งทั่วประเทศ ช่วงระหว่างปี 2561-2562 ซึ่งเป็นปีที่นายกำพลได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญและดีเด่นของโลก ครอบครัววัชรพล ตกลงใจที่จะสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารอีก 10 แห่ง รวมเป็น 111 แห่ง เพื่อหวังว่าจะทำให้การศึกษาของชาติ กระจายลงสู่ระดับล่างก่อนจะดันคนขึ้นสู่ระดับบนให้สมดังที่มุ่งหวังไว้

เฉพาะหน้าเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นจากความเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และตัดสินใจโดยนายกำพลนั้น ในที่สุดหน้าเศรษฐกิจที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านวันนี้ จึงถือกำเนิดขึ้นใน หน้า 8 และหน้า 9

แต่ก่อนหน้าเศรษฐกิจจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ท่านผู้อ่านเห็น เราได้รับคำแนะนำที่ดียิ่งจากนายสมิต มานัสฤดี อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการที่เสียชีวิตไปในวัย 84 ปี ร่วมกับนายชูพงษ์ มณีน้อย คอลัมนิสต์ชื่อดังของไทยรัฐ “แม่ลูกจันทร์”

ทั้งสองให้ความเห็นทรงคุณค่าแก่การเดินหน้าเพื่อทำงานข่าวเศรษฐกิจให้ดี ด้วยการแยกกระทรวงเศรษฐกิจออกจากกระทรวงการเมือง พวกเขาอยากให้มีข่าวเศรษฐกิจที่ตรงไปตรงมา มีข้อเท็จจริง น่าเชื่อถือ และต้องเขียนข่าวให้กระชับครบถ้วนกระบวนการเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภายใต้ข้อจำกัดของเนื้อที่ ที่ไม่มีหน้าให้ต่อข่าว

ที่สำคัญการเจาะข่าวเป็นเรื่องสลักสำคัญของการดึงเอาคนอ่านเข้ามาอ่านหน้าในให้ได้ และเมื่อต้องดึงเอาผู้อ่านเข้ามาอ่านหน้าใน ก็จะต้องมีดัชนีเศรษฐกิจมากมายให้ผู้อ่านได้เห็น ตั้งแต่ ดัชนีหุ้นประจำวัน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ราคาทองคำ และทองรูปพรรณ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆรวมถึงสินค้าสำคัญตามตลาดสดที่ผู้อ่านควรทราบ

นายสมิตแนะนำให้มีคอลัมน์หลากหลาย เช่น คอลัมน์ประจำวัน คอลัมน์สำหรับผู้หญิงที่ชอบช็อปปิ้ง เช่น ช็อปปิ้งไกด์ เพื่อแจ้งให้ทราบในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ว่า มีห้างสรรพสินค้าใดบ้างที่มีโปรโมชันในแบบลดแลกแจกแถม นี่เป็นที่มาของคอลัมน์ที่ติดตลาดจนถึงวันนี้

เช่นเดียวกับคอลัมน์แกะกล่องที่มีไว้สำหรับเปิดให้ผู้ผลิต หรือนำเข้าสินค้าแจ้งให้ทราบว่ามีสินค้าประเภทใดบ้าง ตามด้วยคอลัมน์การตลาดใน “ตลาดนัดหัวเขียว” ของวานิชหนุ่ม และหน้ารถยนต์เต็มหน้าวันอาทิตย์ของ “อัลคาโปน”

ที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือหน้าเทคโนโลยีวันอาทิตย์ที่เรียกว่า “หน้าไซเบอร์เน็ต” ของ ศุภิกา ยิ้มละมัย กับ ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์ ที่เปิดขึ้นเพื่อตามให้ทันนวัตกรรมขั้นสูง และเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่กำลังถาโถมเข้ามาจนธุรกิจจำนวนมากแทบจะรับมือไม่ทันจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเมื่อหน้าเศรษฐกิจกลายเป็นหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างเครียด แม่ลูกจันทร์ ก็ได้เปิดคอลัมน์สบายๆคลายเครียดเล็กๆชื่อ “ชะแว้ป” ให้อ่านกันเล่นๆ

ทีมเศรษฐกิจ ทำข่าวกันมาเกือบ 30 ปี จนกระทั่งคนอ่านในระดับบนเลือกที่จะอ่านเรามากถึง 33% ขณะที่คนอ่านในระดับที่ชอบอ่านข่าวยอดนิยม หรือข่าวสารความเป็นมาว่า เกิดอะไรขึ้นที่ไหนอย่างไรในแต่ละวันนั้น อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 24% ที่เหลือเป็นคนทำงานในระดับกลางๆที่ผ่านหนังสือพิมพ์ของเรา

ในสมัยที่นายกำพลยังมีชีวิตอยู่ เขาคือครูคนสำคัญที่สอนให้เรารู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตน ความขยันหมั่นเพียร และการรู้จักเป็นคนที่หัดใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา ภายใต้อุดมคติที่ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน”

เราจึงเห็นเขาทำงานหนักตลอดเวลา และเห็นเขาทั้งวันตั้งแต่หนังสือพิมพ์ออกตี 2 ตี 3 ตอนเช้าขายหน้าแท่น ตอนบ่ายเรียกเด็กขายพวกมาลัยที่สี่แยกมาขายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่สมัยนั้นเราเรียกเขาว่า ผอ.กำพล ให้ส่วนแบ่งการขายดีกว่าขายพวงมาลัย และตกตอนเย็นพวกเราก็มักจะเห็นเขาชวนก๊วนคนรถไปเตะตะกร้อกันหน้าโรงพิมพ์

ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาเอาพลังมาจากไหน นอกจากคิดเอาเองในใจว่า เขาต้องมีความมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะสร้างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐให้ยิ่งใหญ่นั่นเอง

ชีวิตของ ผอ.กำพล ซึ่งกางที่นอนพับนอนใต้ตึกเพื่อรอหนังสือพิมพ์ออกจึงล้อมรอบไปด้วยผู้คนที่รักเขา และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเขาเช่นเดียวกับที่เขามีเมตตากับเหล่าพนักงานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขามีบ้านให้อยู่ มีอาหารให้ทาน มีรถยนต์ให้นั่งไปทำข่าว และหากเกิดจลาจลในบ้านเมือง เขาคือคนที่พาพวกไปแจกข้าวห่อให้นักข่าวในพื้นที่ต่างๆทานกัน

ตั้งแต่ รปภ. แม่บ้าน แม่ครัว ช่างแท่น โอเปอเรเตอร์ ไปจนถึงคนขับรถ จึงรักเขาหมด แม้แต่ผู้คนในกองบรรณาธิการเขาก็มักจะโฉบเฉี่ยวเข้าไปดูข่าวหน้าหนึ่งว่า วันนี้มีอะไรดีๆ

ถ้าวันไหนมีข่าวใหญ่ เขาจะขอเป็นผู้พาดหัวข่าวเอง และการพาดหัวข่าวของเขาในหลายๆครั้ง ได้กลายเป็น ต้นแบบอีกครั้งสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ

ผอ.กำพลเรียกผู้ดูแลหน้าเศรษฐกิจไปสั่งงานอยู่หลายครั้ง เช่น ไปตรวจสอบซิว่าระหว่างขนหนังสือพิมพ์ทางรถบรรทุก กับเอาหนังสือพิมพ์ขึ้นเครื่องบินไป อะไรถูกแพงกว่ากัน ส่วนเวลาไม่ต้องพูดถึง “ฉันรู้”

แต่ระหว่างที่เรารีบเร่งหาข้อมูลให้ ผอ.ด้วยการโทร.ถามการบินไทย กับสมาคมรถบรรทุก จนได้คำตอบแล้ววิ่งลงไปหา ผอ.ซึ่งนั่งประจำอยู่ที่หน้าประตูทางขึ้นห้องทำงาน ก็ปรากฏว่า ผอ.กำพล คิดเสร็จแล้ว และได้ตัวเลขมาเป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะบอกกับเราว่า “ฉันตัดสินใจได้แล้ว เอามันทั้งสองอย่างนั่นแหละ” ส่วนเราก็จ๋อยไปที่หาข้อมูลให้นายไม่ทัน กระนั้นเราก็คิดเสมอว่า นั่นคือการสอนเราด้วยวิธีการอีกแบบ

ผอ.กำพล เคยเรียกเราไปนั่งฟังคำชี้แจง และการขอรับความร่วมมือของ ผู้ว่าฯ กทม.สมัยหนึ่งที่เดินทางมาให้ข้อมูลแก่พวกเราหลายคนถึงโครงการที่ กทม.กำลังจะทำ นั่นก็คือ โครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฟังดูจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีแต่ผู้คนรุกล้ำแม่น้ำ กระทั่ง กทม.ไม่สามารถควบคุมมวลน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรในพื้นที่ใจกลางเมืองได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

ครั้งนั้น ผอ.กำพล สั่งการว่า ใครมีหน้าที่ช่วยก็ต้องช่วยเขาให้ทำสำเร็จให้เต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แต่ในที่สุด กทม.ก็มีอันต้องยุบโครงการนั้นไปเพราะมีการต่อต้านกันจำนวนมาก เพิ่ง จะมาทำคันกั้นน้ำไม่ให้น้ำจากแม่น้ำไหลเข้าพื้นที่ด้านในก็ไม่กี่ปีนี้เอง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

เรื่องของโครงการก่อสร้างรถไฟลอยฟ้าของบริษัท บีทีเอส หรือระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพที่มีการออกมาต่อต้านกันมาก โดยเฉพาะคนในระดับบนสุดของสังคม ผู้เป็นเจ้าของโครงการและคณะก็ขอเข้ามาพบ ผอ.กำพล ด้วยตนเอง เพื่อชี้แจงว่า มีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องสร้างระบบขนส่งคนคราวละมากๆ จากจุดหนึ่งไปส่งยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเพียงสั้นๆ และตรงเวลาก็สามารถถึงเป้าหมายแล้ว

ครั้งนั้น ผอ.กำพล ก็เรียกคนจากหน้าเศรษฐกิจลงไปรับทราบแล้วขอให้ช่วยเหลือรถไฟฟ้าบีทีเอสให้ทำสำเร็จให้ได้ เพื่อให้คน กทม.มีทางเลือกใหม่ในการเดินทางแทนที่จะนั่งติดแหงกอยู่ในรถยนต์เป็นเวลานานๆ

แต่โดยเหตุที่เสียงคัดค้านต่อต้านมีมากกว่าเสียงตอบรับและเห็นด้วย โครงการรถไฟลอยฟ้าของบีทีเอสจึงใช้เวลานานเป็นสิบปีกว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2542 ขณะที่เจ้าของโครงการต้องต่อสู้กับวิกฤติค่าเงินครั้งใหญ่ของประเทศจนเกือบถูกธนาคารเจ้าหนี้ยึดกิจการไปขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นแทน แต่กลุ่มบีทีเอส เจ้าของโครงการนี้ก็ก้าวข้ามวิกฤติมาได้ และยังคงเป็นเจ้าของระบบขนส่งมวลชนสายสำคัญที่วิ่งฝ่าใจกลางเมืองไปส่งผู้คนยังจุดหมายปลายทางต่างๆสำเร็จ

หลายสิ่งที่ประกอบกันเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 1 ฉบับภายใต้เจตนารมณ์แน่วแน่ และความทระนงของ ผอ.กำพล ทำให้ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในยามพีกสุดพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 1.25 ล้านฉบับเป็นเวลานานนับสิบปี

สิ่งนี้ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำประเทศ ที่สำคัญ เขาทำให้เราภูมิใจที่มีนายซึ่งมีจิตใจมั่นคง เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร ไม่ออกนอกลู่นอกทาง นอกจากทำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อประชาชน และใครก็สั่งเขาไม่ได้

เขาคือ นายกำพล วัชรพล เจ้านายที่เรารักสุดใจ และยึดมั่นอุดมการณ์ที่เขาสั่งสอนเรามาอย่างแน่วแน่ตราบเท่าทุกวันนี้.


ทีมเศรษฐกิจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "100 ปี ชาตกาล กำพล วัชรพล"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ