ผู้สื่อข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า ขณะนี้ สศค.ได้เสนอให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พิจารณาคัดเลือกกลุ่มคนที่มีความยากลำบาก และควรได้รับความช่วยเหลือก่อน ตามนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ใช้ในการหาเสียง เช่น นโยบายมารดาประชารัฐ การเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นต้น เพราะงบประมาณมีจำกัด คาดว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลืออันดับแรกจะเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน สำหรับโครงการมารดาประชารัฐ เป็นการให้สวัสดิการแก่มารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงบุตรอายุ 6 ขวบ โดยในระหว่างตั้งครรภ์ รัฐจะให้เงินแก่มารดาตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน จนถึงคลอด รวมสูงสุด 27,000 บาท ให้ค่าคลอด 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรตั้งแต่คลอดจนถึง 6 ขวบ เดือนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 144,000 บาท หรือคิดเป็นเงินที่ให้กับแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงบุตรอายุ 6 ขวบ รวมทั้งสิ้นคนละ 181,000 บาท
ส่วนงบประมาณที่ใช้จ่ายสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม คาดว่าเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งสิ้นสุดโครงการ จะเหลือเงินในกองทุนราว 10,000 ล้านบาท แต่ สศค.จะต่ออายุมาตรการเพิ่มเติม ที่ให้แก่ผู้ถือบัตรออกไปอีก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ได้อนุมัติเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ 1.การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกินคนละ 230 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.61-ก.ย.62 และค่าน้ำประปา ไม่เกินคนละ 100 บาท 2.สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี คนละ 500 บาทให้ในเดือน ธ.ค.61 และ 3.ให้เงินแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 บาทในเดือน ธ.ค.61 สำหรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.61-ก.ย.62
นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย.62 รัฐบาลยังอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 4 กลุ่ม คือ คนจน คนพิการ เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตร รวมเป็นภาระงบประมาณ 13,210 ล้านบาท ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์การศึกษา คนละ 500 บาทต่อลูกหนึ่งคน จ่ายครั้งเดียว 2.ช่วยเหลือคนพิการผู้ถือบัตร คนละ 200 บาท ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.นี้ 3.ช่วยเหลือเกษตรกร ซื้อปัจจัยการผลิต คนละ 1,000 บาท จ่ายครั้งเดียว และ 4.ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตร ให้เงินเพิ่มในบัตรเป็น 500 บาทต่อเดือนทุกคน จากเดิม 200-300 บาทต่อคน เพื่อซื้อของในร้านธงฟ้าประชารัฐ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย.62.