นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกำหนดให้รถยนต์ใช้แล้ว เป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป โดยรถยนต์ใช้แล้วที่ห้ามนำเข้า หรือต้องขออนุญาตการนำเข้า ได้แก่ รถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุม สำหรับรถยนต์ประเภทอื่น กรมจะถ่ายโอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการนำเข้าต่อไป แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงกำกับดูแลรถยนต์ลักษณะพิเศษเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง เช่น รถเครน และรถยนต์ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศลได้รับบริจาค เช่น รถพยาบาล และรถดับเพลิง
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 (ยกเว้นรถหัวลาก), ประเภท 87.02, ประเภท 87.03 (ยกเว้นรถพยาบาล), ประเภท 87.04 และรถยนต์โบราณตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 97.06 ภายใต้ประกาศและระเบียบฉบับเดิม ต้องนำเข้าภายในวันที่ 9 ธ.ค.2562 สำหรับขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้า หากผู้นำเข้าแสดงหลักฐานและเอกสารประกอบคำขอได้ครบถ้วนสมบูรณ์ กรมจะใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาตไม่เกิน 25 วัน
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนนำเข้าสินค้าต้องห้าม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และกรมศุลกากรจะทำลายสินค้าต้องห้ามดังกล่าว สำหรับรถยนต์ใช้แล้วที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือนำเข้ามาเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออกก่อนวันที่ประกาศกระทรวง ปี 2562 จะใช้บังคับต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจนกว่าจะพ้นภาระและความรับผิดชอบตามกฎหมาย
สำหรับรถยนต์ใช้แล้วที่เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย รถยนต์นั่งที่ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว, รถลักษณะพิเศษที่ใช้แล้วเพื่อใช้ในกิจการของตน, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่ได้รับการยกเว้นหรือชดเชยภาษี, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศล, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเป็นการชั่วคราว, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตหรือทางการศึกษาวิจัย, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก, รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดโดยใช้ประโยชน์สุทธินำกลับ.