“ภากร” ปิ๊งเงินดิจิทัล CLMVT เชื่อมซื้อขายหุ้นระหว่างกลุ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ภากร” ปิ๊งเงินดิจิทัล CLMVT เชื่อมซื้อขายหุ้นระหว่างกลุ่ม

Date Time: 10 ก.ค. 2562 09:15 น.

Summary

  • ผลกระทบ “ลิบรา” กว้างสุดลูกหูลูกตา ทำให้การโอนเงินข้ามประเทศง่ายเหมือนส่งสติกเกอร์ไลน์ แบงก์อาจสูญเสียธุรกิจโอนเงินไป อีคอมเมิร์ซกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้



ผลกระทบ “ลิบรา” กว้างสุดลูกหูลูกตา ทำให้การโอนเงินข้ามประเทศง่ายเหมือนส่งสติกเกอร์ไลน์ แบงก์อาจสูญเสียธุรกิจโอนเงินไป อีคอมเมิร์ซกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ โมบายแบงก์กิ้งถูกแทนที่ด้วยโซเชียลแบงก์กิ้ง ด้าน “ภากร” ปิ๊งผุดเงินดิจิทัลสำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT เชื่อมซื้อขายหุ้นระหว่างกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สรุปการจัดสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ “Libra ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก : ก้าวสู่โลกใหม่ไร้พรมแดน” เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปสาระในประเด็นสำคัญว่า ลิบรา (Libra) สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ที่ริเริ่มโดยเฟซบุ๊กนั้น ถือเป็นความท้าทายของโลกและอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการใช้เงินดิจิทัลแพร่หลายยิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามและหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบควบคู่กับการกำกับดูแลที่เหมาะสม ขณะที่เอกชนมองว่าลิบราจะอยู่นานหรือไม่ ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โซเชียลมีเดียและคริปโตเคอร์เรนซีจะคงอยู่อีกนาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2562 เฟซบุ๊กและพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งรวม 28 ราย เช่น วีซ่ามาสเตอร์การ์ด เพย์พาล อีเบย์ และอูเบอร์ ได้เปิดตัวคริปโตเคอร์เรนซีชื่อ “Libra” (ลิบรา) กำหนดจะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 เพื่อให้เป็นเงินดิจิทัลที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ โดยมีลักษณะเป็นสเตเบิลคอยน์ (stable coin) ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ รวมทั้งมีความผันผวนน้อยกว่า โดยก่อนเปิดบริการจริง เฟซบุ๊กตั้งใจจะหาพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งประมาณ 100 ราย มาร่วมลงทุนอย่างน้อยรายละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยการออกและเสนอขาย Libra Investment Token (ซึ่งไม่ใช่เหรียญเดียวกับลิบรา ที่จะออกมาเป็นกลไกเพื่อการชำระเงิน) รวมถึงจะจัดตั้ง บริษัท Calibra เพื่อเป็นผู้ให้บริการกระเป๋าสตางค์ (wallet) สำหรับผู้ใช้ลิบราด้วย

ผลกระทบของลิบราจากฐานผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กกว่า 2,000 ล้านคนนั้น น่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างรายย่อย ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถโอนเงินได้ทันทีเหมือนการส่งสติกเกอร์ในไลน์ ขณะที่ภาคการเงินการธนาคารจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะอาจจะสูญเสียธุรกิจการโอนเงิน อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ รวมทั้งโซเชียลแบงก์กิ้งจะมาแทนที่โมบายแบงก์กิ้ง และอาจมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแข่งขันกับลิบรา เช่น อาลีบาบา กูเกิล เทนเซ็นต์ และอะเมซอน

ด้านผลกระทบต่อภาครัฐ อาจทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดนโยบายด้านการเงินและการคลังได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ อาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่านผู้ประกอบการหรือตัวกลางที่ภาครัฐกำกับดูแลอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ภาครัฐไม่ควรปิดกั้นหรือหยุดยั้งนวัตกรรม แต่ควรต้องศึกษาและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk)

ด้านบริบททางกฎหมายและการกำกับดูแล สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลลิบราโดยใช้กฎหมายในภาคการเงินที่มีอยู่อาจเป็นไปได้ยาก และอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไข หรือออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการกำกับดูแล

ในขณะที่ด้านภาษีก็มีความจำเป็นต้องมีกระบวนการคิดใหม่ หากจะกำกับดูแล ความท้าทายอยู่ที่การเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซที่ย้ายไปขายสินค้าและบริการบนเฟซบุ๊ก โดยใช้ลิบราเป็นสื่อกลางในการซื้อขายทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้กรมสรรพากรไม่ได้รับข้อมูลสำหรับการกำกับดูแล

สำหรับการกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การออกและเสนอขาย Libra Investment Token (ไม่ใช่ลิบราที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี) ซึ่งหากจะเสนอขายในประเทศไทยจะต้องมาขออนุญาต อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ที่จะสามารถลงทุนใน Libra Investment Token ได้ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมลิบรา ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมไว้สูงมากและไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปลงทุนใน Libra Investment Token และ 2.การขออนุญาตประกอบธุรกิจตัวกลาง (ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้า) ที่แสดงตนว่าจะให้บริการรับซื้อขายแลกเปลี่ยนลิบราในไทย

ด้านความเสี่ยงและข้อควรระวังสำหรับประชาชน หากมีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างหรือชักชวนให้ไปลงทุนในโครงการลิบรา มีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นการหลอกลวง เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง Libra Investment Token ได้ ส่วนลิบราที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซีก็ยังไม่เปิดให้บริการจริงในปัจจุบัน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยว่า มีแนวคิดที่จะศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวีที (CLMVT-กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) ให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศร่วมกันได้ และหากดำเนินการจริง คงต้องมีการทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อ้างอิงในกลุ่ม CLMVT ผ่านศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน (แซนบอค) เพื่อทดสอบระบบดังกล่าวก่อน ส่วนการเปิดตัวเงินสกุลดิจิทัล “ลิบรา” ของเฟซบุ๊กนั้น ถือว่าสร้างความตื่นเต้นแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และแม้ลิบรามีแนวโน้มจะเข้ามาแทนระบบการเชื่อมโยงของธนาคารพาณิชย์ เช่น การโอนเงินระหว่างกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการปล่อยสินเชื่อได้ ส่วนแนวคิดสกุลเงินดิจิทัลซีแอลเอ็มวีที ยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะดำเนินการเองหรืออาจเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มที่เฟซบุ๊กกำลังดำเนินการอยู่ ต้องศึกษาให้รอบคอบ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ