เข็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เข็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

Date Time: 9 ก.ค. 2562 07:20 น.

Summary

  • กพอ.ทร.ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการจ้างศึกษา สำรวจ และออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ในส่วนของงานออกแบบรายละเอียด และแผนการปรับระดับพื้นที่

Latest

"อิ๊งค์" เร่งรับซื้อพลังงานสะอาด สั่งดูแลราคาพลังงานกระทบชีวิตประชาชน

พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ (กพอ.ทร.) เปิดเผยว่า กพอ.ทร.ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการจ้างศึกษา สำรวจ และออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ในส่วนของงานออกแบบรายละเอียด และแผนการปรับระดับพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานของโครงการที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ล่าสุด ได้ว่าจ้างกิจการค้าร่วมในกลุ่มบริษัท โปรเซส อาร์คิเต็ค แอนด์ แปลนเนอร์ จำกัด, บริษัท พรวิเศษ วิศว์ จำกัด และบริษัท โปรเกรส ดีไซน์ แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด รับผิดชอบการศึกษา สำรวจ และออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในบริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ขณะที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งจะใช้วิธีการคัดเลือกแทนการประมูล โดยได้เชิญบริษัท แอร์บัส เอส.เอ.เอส ผู้ผลิตอากาศยานขนาดใหญ่มาร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงด้านธุรกิจร่วมลงทุน

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างนั้น ในขั้นตอนของคอนเซ็ปต์ชัวล์ ดีไซน์ดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ยังเหลือในส่วนที่การบินไทย และแอร์บัส ต้องพิจารณาการออกแบบเพื่อให้อาคารเป็นรูปแบบอาคารอัจฉริยะ (สมาร์ท บิลดิง) รวมถึงประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “กพอ.ทร. ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการออกแบบและก่อสร้างต้องเป็นไปตามเวลาที่กำหนด เช่น ปรับระดับพื้นที่โดยใช้ทรายถม จะทำให้การบดอัดมีความแน่นได้เร็วขึ้น เชื่อมั่นว่าจะดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนด โดยจะส่งรูปแบบการออกแบบศูนย์ซ่อมบำรุงนี้ให้การบินไทย และแอร์บัส พิจารณา และต้องเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอ็มอาร์โอ เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีมูลค่า 10,588 ล้านบาท แต่คืบหน้าน้อยสุด ส่วนโครงการคืบหน้ามากสุดคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่า 182,524 ล้านบาท ที่ได้ผู้ลงทุนแล้วคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ล่าสุดกำลังกำหนดวันเซ็นสัญญา ขณะที่โครงการคืบหน้าตามมาคือ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 55,400 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมนำร่างสัญญาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนเซ็นสัญญากับผู้ชนะประมูล เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ