การบริหารปกครองประเทศภายใต้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงความห่วงใยมากที่สุดก็คือเรื่องของ เศรษฐกิจมหภาค และ เศรษฐกิจปากท้อง ที่ต้องสัมพันธ์กัน
โตไปด้วยกัน
การที่จะมีทีมเศรษฐกิจจากหลากหลายพรรคการเมือง สุดท้ายทุกพรรคก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติอยู่ดี
หนีไม่พ้นความรับผิดชอบของผู้นำรัฐบาลที่จะต้องมีการทำงานเป็นทีม
สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันกดดันการทำงานของรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถือว่าเป็นมือใหม่หัดขับ
มีนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนพยายามส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาลชุดใหม่ จะทำกันแบบเดิมๆไม่ได้เด็ดขาด เพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงและมีความผันผวนที่รวดเร็ว
โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องรับมือคือ วิกฤติค่าเงินบาท
จากการคาดการณ์ของฝ่ายกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาค
โฮมิน ลี จากธนาคารลอมบาร์ด โอเดียร์ แห่ง สวิตเซอร์แลนด์ ที่พูดไว้ในงานสัมมนามุมมองเศรษฐกิจกลางปี
ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์
ประมาณการว่าในปลายปีนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าอีก 2-3% หรือ 29.89-29.59 บาทต่อดอลลาร์ มาจากผลกระทบการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 2 รอบ รอบละ 0.25%
ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ เป็นการแสวงหาดอกเบี้ยที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าผลตอบแทนในสหรัฐฯที่ลดลง
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการประกาศลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 20,000 ล้านบาท จากที่ ธปท.ต้องออกพันธบัตรทุกเดือนเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
เกาไม่ถูกที่คัน
ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจการส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน และธุรกิจที่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ได้รับผลกระทบโดยตรงไปเต็มๆ
แนวโน้มการส่งออกของไทยจะติดลบอีก -1 สงครามการค้าโลก ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจจีนไม่โตตามเป้า จะทำให้การประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง จากร้อยละ 3.2 ด้วยซ้ำ
ชาวบ้านตาดำๆต้องรับกรรมไปตามระเบียบ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th