ต่างมุม “บาทแข็ง-เงินทุนเข้า” สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หั่นรอบ 4 ส่งออกลบ 1%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ต่างมุม “บาทแข็ง-เงินทุนเข้า” สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หั่นรอบ 4 ส่งออกลบ 1%

Date Time: 3 ก.ค. 2562 08:05 น.

Summary

  • น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ลดเป้าหมายการส่งออกไทยเป็นครั้งที่ 4 ในปี 62 นี้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้



น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ลดเป้าหมายการส่งออกไทยเป็นครั้งที่ 4 ในปี 62 นี้ ตามผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ารวดเร็ว ราคาน้ำมันที่ผันผวน และปัญหาโครงสร้างการผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ล้าสมัยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ สรท.ได้ปรับลดเป้าหมายส่งออกปีนี้ จากเดิมตั้งเป้าขยายตัว 5% ลดลงเหลือโต 3% เหลือโต 1% และล่าสุดได้ปรับลดติดลบ 1 ถึง 0% โดยอยู่บนสมมติฐานค่าเงินบาททั้งปีเฉลี่ย 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หรือบวกลบ 0.50 บาทต่อเหรียญ แต่ล่าสุดเคลื่อนไหว 31.37-30.78 บาทต่อเหรียญ

“สรท.เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เช่น ดูแลค่าบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ากว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ โดยใช้มาตรการปกป้องค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ผิดปกติ ฯลฯ รวมทั้งเร่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยเร็ว”

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า สรท.คาดว่าตัวเลขส่งออกในปีนี้จะติดลบ 0.7% โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆชะลอตัว ขณะที่ ไทยมีปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งๆ ที่ผู้ส่งออกไทยไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าซึ่งที่ผ่านมาผู้นำเข้าจากหลายประเทศได้ต่อรองให้ลดราคาขายลงบ้างแล้ว ยอมรับว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ขายสินค้าได้ยากมากๆ

ขณะที่นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้เงินไหลเข้าไทยมากขึ้น เพราะนักลงทุนมองว่าไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ดี ขณะที่ ธปท.มองดอกเบี้ยทิศทางเดียวกับเฟด จึงสบายใจ ได้ว่าปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้เงินรัฐบาลไม่ปรับขึ้น โดยล่าสุดการเปิดให้ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีนักลงทุนเสนอสูงกว่าวงเงิน 3.35 เท่า แสดงให้เห็นว่าเงินต่างประเทศยังไหลเข้าไทย และสภาพคล่องของไทยยังมีสูงมาก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ