นักวิจัยสถาบันป๋วยฯ ระบุเกษตรไทยส่วนใหญ่ยากจน 40% มีรายได้ต่ำกว่า 32,000 บาทต่อปี เข้าสู่สังคมสูงอายุ การเกษตรคนรุ่นใหม่เมินส่งผลต่อการผลิตในภาคเกษตรในอนาคตลดต่ำลง ชี้ปัจจัยหลักที่ทำให้เกษตรไทย “จน หนี้เพิ่มและไม่พัฒนา” คือนโยบายหาเสียงของภาครัฐ ที่จูงใจให้เกษตรไทยปลูกพืชมหาชนที่รายได้ต่ำ จี้ รมต.เกษตรใหม่ อย่าซ้ำรอยเดิม อย่าใช้นโยบายที่บิดเบือนราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ออกบทวิจัยเพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทย ใน 4 บทความ ซึ่งเป็นการเจาะลึกโครงสร้างของเกษตรไทยว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการวิจัยโดยนางโสมรัตน์ จันทรัตน์ หัวหน้านักวิจัยสถาบันป๋วยฯ น.ส.บุญธิดา เสงี่ยมเนตร น.ส.ลัทธพร รัตนวรารักษ์ นักวิจัยสถาบันป๋วยฯ และนายจิรัช เจนพึ่งพร เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้วิจัยภาคเกษตรไทยในหลายมิติ และพบความน่าเป็นห่วงในหลายเรื่อง ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว การปลูกพืชที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำ รวมทั้งแรงจูงใจในการปรับโครงสร้างการเกษตร และโอกาสในการใช้โมบาย เทคโนโลยีในการพัฒนาภาคการเกษตร
โดยสรุป บทวิจัยพบว่า ในปี 2560 เกษตรไทยมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยต่อปีที่ 57,032 บาท ขณะที่มีหนี้สินมากกว่า โดยมีหนี้สิน 1.3 เท่าของรายได้ โดย 40% ของครัวเรือนเกษตรไทยมีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนของประเทศ โดยมีรายได้ต่ำกว่า 32,000 บาทต่อปี ซึ่งคือระดับเส้นความยากจนของประเทศไทย ในปี 2559 และมีเกษตรกร 10% ของเกษตรกรทั้งหมดที่มีหนี้สินเกินกว่า 3 เท่าของรายได้ต่ำต่อหัวต่อปี
นอกจากนั้น สิ่งที่ค้นพบคือ ในปัจจุบัน ภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญปัญหาสูงวัยของแรงงาน โดยสัดส่วนของแรงงานในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 39% ของแรงงานรวมในปี 2546 เป็น 48% ในปี 2556 ซึ่งแตกต่างจากแรงงานอายุน้อยที่ลดลง ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพของการเกษตรให้ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การใช้แรงงานของเกษตรกรต่อไร่ลดลงในเกือบทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกร 68% ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต
ขณะเดียวกันประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ภาพรวมการทำเกษตรของไทยอยู่ในลักษณะกระจุกตัว ทั้งการกระจุกตัวของพื้นที่ในการทำการเกษตร และที่สำคัญคือกระจุกตัวอยู่ในพืชหลัก หรือพืชมหาชน ประมาณ 7 ชนิด โดยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดปลูกข้าว และข้าวเหนียว ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนที่เหลือ ปลูกพืชมหาชน 5 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และสัดส่วนการปลูกข้าวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสองในสามของครัวเรือนของเกษตรของไทยทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งถือเป็นการทำการเกษตรที่กระจุกตัวในลักษณะดังกล่าว มีความเสี่ยงสูงและได้รับผลตอบแทนต่ำ รวมทั้งสร้างปัญหาการออกพร้อมกันของผลผลิต ส่งผลให้ราคาขายตกต่ำ
ทั้งนี้ นักวิจัยมองว่า เหตุผลที่เกษตรไทยยังไม่ปรับสู่เกษตรระบบผสมผสานที่เสี่ยงต่ำกว่า และเปลี่ยนจากการปลูกพืชมหาชนที่ราคาผลผลิตต่ำในอันดับ 70-90 เมื่อเทียบกับดัชนีราคาพืชอื่น 132 รายการ ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดมาจากนโยบายของภาครัฐ ที่บิดเบือนราคาและลดแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างการเกษตรของประเทศ ไทย เช่น โครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งโครงการเยียวยาผลกระทบของเกษตรกร ทั้งในการแทรกแซงราคา การให้เงินเยียวยาผลผลิตที่เสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรไทยทำเกษตรในลักษณะเดิม ซึ่งไม่ได้เพิ่มรายได้
“ในช่วงเวลาที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และมีแคนดิเดตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯคนใหม่ เท่าที่ติดตามนโยบายของพรรคการเมือง ยังสัญญาในการทำนโยบายภาคการเกษตรแบบเดิมๆอยู่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังเห็นการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร และการเยียวยาผลผลิตที่ได้รับความ เสียหายตลอดเวลา และเพิ่มจำนวนพืชมากขึ้น ซึ่งจุดนี้จะทำให้เกษตรกรยังคงวนเวียนอยู่ในการเกษตรแบบเดิมๆ และการปลูกพืชมหาชนไม่กี่ชนิดที่ราคาต่ำ ได้รับปุ๋ยและยาผ่านระบบการให้สินเชื่อจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการก่อหนี้มากขึ้นและไม่สามารถที่จะพ้นความยากจนได้”
นักวิจัย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนแนวทางการช่วยเหลือในภาคเกษตร โดยควรจะเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรที่มีศักยภาพ ซึ่งอาจจะมี 20% ของทั้งหมด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้โมบายแอปพลิเคชัน เพื่อการหาความรู้และตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งเพิ่มระบบประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุม เพื่อลดความเสี่ยงทดแทนการเยียวยาของรัฐ จูงใจให้คนรุ่นใหม่หรือคนอายุน้อยเข้าสู่ระบบการเกษตรมากขึ้น.