เพิ่มวงเงินกองทุนประชารัฐแสนล้านบาท ฟุ้งนักลงทุนแห่ตอม “อีอีซี”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพิ่มวงเงินกองทุนประชารัฐแสนล้านบาท ฟุ้งนักลงทุนแห่ตอม “อีอีซี”

Date Time: 27 มิ.ย. 2562 06:01 น.

Summary

  • “สมคิด” ย้ำเดินหน้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อ พร้อมเพิ่มวงเงินในกองทุนฯเป็นแสนล้านในปีงบ 2563 ยันอีอีซีเดินหน้าหานักลงทุนเป้าหมาย

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“สมคิด” ย้ำเดินหน้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อ พร้อมเพิ่มวงเงินในกองทุนฯเป็นแสนล้านในปีงบ 2563 ยันอีอีซีเดินหน้าหานักลงทุนเป้าหมายเข้าพื้นที่ สั่ง กนอ.ขยายพื้นที่ในภูมิภาครับการลงทุนเกษตร-อุตสาหกรรมในภาคอีสาน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับสำนักงานประมาณว่าในปีงบประมาณ 2563 จะมีเม็ดเงินมาเติมลงในกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้ครบ 100,000 ล้านบาท จากเดิมที่กองทุนฯมีเงินหมุนเวียนประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้จะไม่มีการสะดุด ส่วนมาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใดหรือไม่ ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีว่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ภายหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว คาดว่าเป็นช่วงกลางเดือน ก.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์แล้วจะต้องจัดทำนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภา กว่าจะทำงานได้จริงคงข้ามไปเดือน ส.ค. ซึ่งมีเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการคือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการของรัฐบาลและผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จะเริ่มใช้เงินของปีงบประมาณ 2563 ได้ก็คงเป็นช่วงปลายเดือน ธ.ค.-กลางเดือน ม.ค.ปี 2563 ส่วนในช่วงต้นปีงบประมาณ 2563 คือ ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2562 ก็ใช้การเบิกจ่ายงบประมาณตามกรอบของงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน

สำหรับแนวโน้มของการลงทุนจากต่างประเทศยังมีความต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำข้อมูลคำขอส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในพื้นที่อีอีซีมาแสดงให้ ครม.ดูซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนกว่า 100% สะท้อนให้เห็นว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมากโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและจีนที่ย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

“โครงการอีอีซีขณะนี้เดินหน้าไปได้มาก ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นพื้นฐานของโครงการก็ผลักดันออกมาได้แล้ว 2 โครงการ ต่อไปคือต้องดูว่าจะดึงนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายเข้ามาลงทุนอย่างไร รวมทั้งในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม (อีอีซีไอ) ต้องพยายามดึงดูดเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ จากนี้ไปต้องมองข้ามช็อตแล้วว่าหลังจากโครงการอีอีซีเกิดขึ้นมาแล้วจะทำอะไรต่อไป”

นายสมคิดกล่าว บทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ควรต้องเปลี่ยนไปมองการขยายพื้นที่การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่อื่นๆนอกพื้นที่อีอีซี เช่น ครม.สัญจรเคยอนุมติให้เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน (ไออีซี) ที่จะทำเรื่องของอุตสาหกรรมชีวภาพ กนอ.ก็ต้องไปเตรียมพื้นที่ที่มีความพร้อมสำหรับรองรับการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบและการแปรรูป โดยนิคมอุตสาหกรรมที่จะสร้างขึ้นใหม่ในภูมิภาคต่างๆไม่จำเป็นต้องรองรับเฉพาะอุตสาหกรรมรายใหญ่แต่ให้เน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร

ขณะที่บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมในระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตรและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ต้องเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกษตรอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ