นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์นโยบายภาษีของรัฐบาลชุดใหม่ว่ามีข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบอย่างไร หากดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ สำหรับนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% นั้น หากจะลดจริง กรมอาจต้องเสนอแนวทางลด หรือเลิกรายการลดหย่อนภาษีบางรายการ จากปัจจุบันกำหนดให้นำรายจ่ายบางประเภทมาหักลดหย่อนได้ เช่น ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ และค่าลดหย่อนเฉพาะกิจ เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ เป็นต้น “การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นมาตรการที่ช่วยประชาชนก็จริง แต่จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของกรมหายไปด้วย ซึ่งอาจกระทบถึงเสถียรภาพการคลัง ดังนั้น สิ่งที่กรมต้องทำคือ หาว่ามาตรการเหล่านี้จะกระทบรายได้จำนวนเท่าใด และต้องนำมาตรการอะไรมาชดเชย เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง”
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ที่ปัจจุบันเก็บที่ 7% นั้น ขณะนี้ กรมยังไม่มีแนวคิดจะปรับเพิ่มหรือลด เพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ซึ่งการปรับเพิ่มหรือลดแวต จะมีผลกระทบมาก เพราะปัจจุบันรายได้จากแวตถือเป็นรายได้อันดับหนึ่งของกรม คิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีรวมของกรม โดยการลดแวต 1% จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีหายไปราว 7 0,000 ล้านบาท
สำหรับผลการจัดเก็บภาษีสรรพากรในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 62 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.61-พ.ค.62 จัดเก็บได้ 1.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายถึง 38,015 ล้านบาท มั่นใจว่า ทั้งปีจะเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่วนปี 63 ตั้งเป้าหมายจัดเก็บที่ 2.1 ล้านล้านบาท
“รายได้ของกรมที่เพิ่มขึ้น มาจากการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง ป้องกันและตรวจสอบการเสียภาษี, การพัฒนาเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงของผู้เสียภาษี เพื่อคัดแยกผู้เสียภาษีที่ดีกับไม่ดีออกจากกัน โดยผู้เสียภาษีที่ดีจะได้รับการอำนวยความสะดวก เช่น คืนภาษีเร็วขึ้น ส่วนผู้เสียภาษีที่ไม่ดี จะถูกตรวจสอบภาษีที่เข้มข้นขึ้น เป็นต้น และยังจะเดินหน้านำระบบดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีให้มากขึ้นด้วย”.