สสว.จับมือ มทร. ธัญบุรี และองค์กรชั้นนำปั้นผู้ประกอบการ SME ลุยตลาดออนไลน์ ปี3 มั่นใจสินค้าไทยพร้อมลุยระดับนานาชาติ ตั้งเป้าสร้างยอดขาย ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 640 ล้าน
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็คทรอนิกส์สำหรับ SME หรือ SME Online ต่อเนื่องขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้สะดวก สร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการ โดยเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ให้ความรู้และคำปรึกษา แนะนำในการทำธุรกิจบนตลาดออนไลน์ การจัดกิจกรรมสนับสนุนการขายในตลาดออนไลน์ เช่น การส่งเสริมการขาย การชำระเงิน การส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างเป็นระบบ และยกระดับผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนโดยโครงการปีที่ 1 และ 2 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศกว่า 124,000 ราย สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้กว่า 20,000 ร้านค้า และสร้างยอดขายได้มากกว่า 400 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนา และขึ้นจำหน่ายออนไลน์แล้วกว่า 230,000 ผลิตภัณฑ์
จากการเปิดเผยของ นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี "โครงการ SME Online ปีที่ 3 นี้ มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันตก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในทุกมิติทั้งแบบ Online, Offline และ Workshop ฝึกปฏิบัติจริง ตั้งแต่การถ่ายภาพสินค้า การจัดทำเนื้อหาสินค้า การเปิดร้านค้าออนไลน์ การทำ Digital Marketing และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ"
การอบรมในปีนี้จะแตกต่างกับทุกปีที่ผ่านมา โดยแบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A จำนวน 30 ราย กลุ่ม B จำนวน 650 ราย และกลุ่ม C จำนวน 2,000 ราย โดยกลุ่ม A นั้น จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดที่จะบุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งทางเราจะเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีน สำหรับกลุ่ม B จะเป็นผู้ประกอบการที่มีร้านค้าออนไลน์อยู่แล้ว เราจะพัฒนาความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขาย รวมทั้งเรื่อง Content Marketing ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทำการตลาดออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลุ่ม C คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ จะให้ความรู้เรื่องเทคนิคการเปิดร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งการทำการตลาดออนไลน์ด้วย
สำหรับหน่วยร่วมอีก 4 แห่งนั้น ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศดังนี้ มร.สส.รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก, ม.เชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ และ ม.ธรรมศาสตร์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง นอกจากนี้ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับ e-Marketplace อีก 14 แห่ง เพื่อสนับสนุนและมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ Lazada, Shopee, Thailandmall, Far-e, Kha-leang.com, Inwmall, Tarad.com, PCHome, Beautynista, Pinsouq, shopseason, Priceza, Wongnaiและ Hungryhub
"โดยเป้าหมายของโครงการฯในปีนี้มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50,000 ราย เตรียมความพร้อมสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า 100,000 ผลิตภัณฑ์ และสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 640 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการแข่งขันในโลกดิจิทัล ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติได้อย่างแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน" นายนิติ กล่าว
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานร่วมในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศฟรี ติดตามรายละเอียดได้ที่Facebook: SMEONLINE BY OSMEP แอพพลิเคชั่น SME CONNEXT หรือเว็บไซต์www. smeonline.rmutt.ac.th