พาณิชย์คุมเข้ม รพ.เอกชน โขกค่ายาราคาแพง ให้แจ้งต้นทุนที่ซื้อ พร้อมราคาจำหน่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์คุมเข้ม รพ.เอกชน โขกค่ายาราคาแพง ให้แจ้งต้นทุนที่ซื้อ พร้อมราคาจำหน่าย

Date Time: 31 พ.ค. 2562 05:35 น.

Summary

  • กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ กกร. กำหนดให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ ทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 พ.ค.62 ยัน โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงราคา ขีดเส้นภายใน 45 วัน

Latest

จากคดีดิไอคอนกรุ๊ป สู่ “แชร์ลูกโซ่” ทีไม่ได้มีแค่ หลอกออมเงิน หรือ ลงทุน เปิดกลโกง 5 ขั้นตอน

กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศ กกร. กำหนดให้แจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ ทางการแพทย์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 พ.ค.62 ยัน โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงราคา ขีดเส้นภายใน 45 วัน ชี้จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคายาสุดโหด มีส่วนต่างราคาต้นทุนและราคาขาย ฟันกำไรเพียบ ส่วนใบสั่งยากำหนดให้แจ้งชื่อยา วิธีใช้ ราคาต่อหน่วย เพื่อให้นำไปซื้อข้างนอกได้ พร้อมให้ ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลการรักษาเกินจริงทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

กระทรวงพาณิชย์เอาจริงแล้วกับโรงพยาบาลเอกชนที่ฟันราคายาสุดโหด เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ลงนามในประกาศ กกร.ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลแล้วเมื่อวันที่ 29 พ.ค. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.เป็นต้นไป มั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน

นายวิชัยกล่าวด้วยว่า ประกาศ กกร. ดังกล่าว กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายส่ง ต้องแจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการ ตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) เบื้องต้นอยู่ที่ 3,892 รายการ ในอนาคตจะขยายผลให้ครอบคลุมรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานไทย (TMT) โดยบัญชียามี 32,000 รายการ บัญชีเวชภัณฑ์ 868 รายการ ค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้โรงพยาบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงราคายา ต้องแจ้งให้กรมฯทราบก่อนปรับราคาภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งราคาซื้อ-ราคาจำหน่ายตามที่ประกาศกำหนดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง

“กรมฯ ส่งประกาศดังกล่าวไปให้โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 353 แห่งแล้ว ให้ระยะเวลาในการแจ้งราคาซื้อขายภายใน 45 วัน ใครไม่แจ้งจะมีโทษตามที่กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนด หลังจากได้ข้อมูลมาครบแล้ว กรมฯจะนำขึ้นเว็บไซต์กรมฯ โรงพยาบาลเอกชนต้องแสดง QR Code เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก รวมทั้งจะเชิญโรงพยาบาลที่คิดราคาแพงเกินจริง หรือคิดกำไรเกินจริงมาสอบถามเหตุผล” นายวิชัยกล่าว

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์โครงสร้างราคายา จากข้อมูลราคาซื้อขาย และราคานำเข้า ที่กรมฯ ขอไปยังโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 353 ราย พบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ 29.33%-8,766.79% หรือมีส่วนต่างราคาตั้งแต่ 10.83-28,862 บาท และมีกำไรตั้งแต่ 47.73- 16,566.67% ขณะเดียวกัน ยังพบว่ายาชนิดเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งคิดราคาขายต่างกันมาก ยา XANDASE (allopuirnol 100 มิลลิกรัม) ขายตั้งแต่เม็ดละ 3-20 บาท โดยมีราคากลางที่ 6 บาท ยา AMPHOTERICIN-B (amphotericin b 50 มก.) ขวดละ 452-2,200 บาท ราคากลางอยู่ที่ 937 บาท ยา S_DOPROCT (10 กรัม) หลอดละ 17-303 บาท ราคากลาง 148 บาท เป็นต้น

นายวิชัยกล่าวว่า ภายใต้ประกาศ กกร.ยังได้กำหนดเรื่องใบสั่งยา โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบและต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ ในการจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วน กลางและส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น หรือการคิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร เช่น ปวดท้อง คิดค่ารักษา 30,000 บาท หรือปวดหัว แต่ให้บริการทั้งตรวจตา วัดชีพจร ตรวจลิ้น ทำทีซีสแกน หรือคิดค่าชะโงกจากการนำแพทย์มาให้บริการหลายคน เป็นต้น หากผู้บริโภคเห็นว่ามีการคิดราคาสูงเกินสมควรจริง สามารถร้องเรียน ได้ที่สายด่วนกรมฯ โทร.1569 หากกรมฯตรวจสอบแล้วพบโรงพยาบาลเอกชนผิดจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ