สศค.มาแปลก!! แถลงเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.ขยายตัวแต่ไม่บอกตัวเลข บอกแค่ว่าเกิดจากการใช้จ่ายภายในประเทศสูงขึ้น ผ่านการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัว 1.6% ขณะที่มีนักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น คุยรอลุ้นเดือน ก.ค.อาจปรับจีดีพีอีกรอบ แต่ต้องรอดูการส่งออกเป็นตัวแปรสำคัญ ขณะที่ 4 เดือนส่งออกหดตัว 1.9% พร้อมประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาส 1 ยันการจัดทำงบรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้าไม่กระทบเบิกจ่าย เปิดทางให้ใช้งบปีก่อนหน้าได้
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยสาเหตุมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้นผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 6.4% และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.9% ประกอบกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรชัยปฏิเสธที่จะให้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจเดือน เม.ย.โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีตัวเลขรวม แต่ก็เห็นว่าเพิ่มขึ้นจากปัจจัยข้างต้น ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่มีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของ สศค.
อย่างไรก็ตาม นายพรชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.2562) การส่งออกยังคงหดตัวอยู่ที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังคงปะทุ แต่ประเทศไทยยังถือว่าการส่งออกติดลบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน อาทิ อินโดนีเซียติดลบ 9.5% ญี่ปุ่นติดลบ 5.8% มาเลเซีย 4.8% เป็นต้น
“ภาพรวมไตรมาส 2 ปีนี้ จีดีพีน่าจะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.8% เนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ภาคการลงทุนที่ยังขยายตัวได้ดี โดยปีนี้ภาพรวมการลงทุนจะขยายตัว 4.3% การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.1% เนื่องจากเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังไทยผ่านพ้นการเลือกตั้ง และกำลังจะมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น โดยมองว่าการส่งออกครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ส่วนในเดือน ก.ค.อาจมีการทบทวนตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้ง จากที่ สศค.คาดการณ์จีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.8% ซึ่งการจะปรับขึ้นหรือคงตัวเลขเดิมนั้น จะดูตัวเลขส่งออกซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ”
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย.2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลมาจากการขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอินเดียขยายตัว 35.1% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวอยู่ที่ 8.9% ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ไทยยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศราว 164,112 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศในเดือน เม.ย.2562 ยังคงชะลอตัว ตามการหดตัวของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม ส่วนประกอบเครื่องจักรกล โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่าเท่ากับ 1,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว 2.6% จากงวดปีก่อน โดยตลาดคู่ค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน เม.ย.หดตัวชะลอลงอยู่ที่ 0.7% ทำให้มูลค่านำเข้าช่วง 4 เดือนแรกของปียังคงหดตัว 1.1% แม้ว่าเดือน เม.ย.62 ดุลการค้าจะขาดดุลเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่จะล่าช้าจากกำหนดการ 3 เดือน จากเดิมวันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นวันที่ 1 ม.ค.2563 นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่าย และยังสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการได้ตามปกติ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐปี 2561 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 ระบุว่า ถ้างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทัน ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายปีก่อนหน้าได้ ซึ่งในกรณีนี้คือ สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปก่อนได้
“อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจะต้องไปออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินตามโครงการต่างๆได้อย่างไม่มีสะดุดต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาการออกหลักเกณฑ์งบรายจ่ายประจำปี สามารถให้เบิกจ่ายงบประมาณได้ 3 ส่วน คือ งบรายจ่ายประจำปี งบรายจ่ายลงทุนปีก่อนหน้าที่มีการก่อหนี้ผูกพัน และโครงการที่มีการก่อหนี้ผูกพันจากปีก่อนหน้า”
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561- เม.ย.2562) ภาครัฐมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1.33 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 42,113 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1.95 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 112,090 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.1% โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 236,778 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย.2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 263,956 ล้านบาท.