กลุ่มสามารถเทลคอม โชว์ผลงานไตรมาสแรกกำไร 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150% จากปีก่อน ครองความเป็นผู้นำในการติดตั้งและให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม คาดมีโอกาสคว้างานต่อเนื่อง ด้วยโอกาสจากหลายโครงการที่รอความพร้อมมาจากปีที่แล้ว บวกกับนโยบายของภาครัฐ ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจด้านการขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มเติบโต 5% ต่อปี และขยายตัวเป็น 2 เท่าในอีก 20-30 ปี มั่นใจรายได้โตตามเป้า 1 หมื่นล้านบาท
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถเทลคอม เปิดเผยว่า “กลุ่มสามารถเทลคอม มีรายได้รวม 2,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 150% โดยในต้นปี 2562 กลุ่มสามารถเทลคอมได้มีการเซ็นสัญญาโครงการไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 6,500 ล้านบาท อาทิ โครงการจัดหา พัฒนา ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลักของการไฟฟ้าภูมิภาค, โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศธุรกิจหลัก หรือ Core Business Process System ให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank,โครงการของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย, โครงการของกระทรวงสาธารณสุขและโครงการของกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตของกลุ่มสามารถเทลคอม ยังคงมีแนวโน้มขาขึ้นอย่างชัดเจน จากนโยบายของรัฐในการพัฒนาประเทศรองรับยุคดิจิทัล ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้มีการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานท่าอากาศยานของไทยให้สามารถรองรับการเติบโตทางด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทุกสนามบินจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรื่องการบริการเพื่อรองรับการขยายตัว เราจึงได้มีการนำเอาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง Common Use Passenger Processing Systems (CUPPS) เข้าไปติดตั้งให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกรมท่าอากาศยาน
บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากกรมท่าอากาศยาน ให้เริ่มนำร่องระบบ CUPPS กับที่ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ เนื่องจากจังหวัดกระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่เข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 4 ล้านคนในปี 2561 ด้วยแนวโน้มจำนวนเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น ท่าอากาศยานกระบี่ จึงได้เร่งเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสนามบินด้านต่าง ๆ เพื่อให้บริการที่มีประสิทธิภาพแก่สายการบินทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ จึงได้นำเอานำระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing Systems : CUPPS) มาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเคาน์เตอร์เช็กอิน และการบริหารจัดการประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Boarding Gates) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด สามารถรองรับปริมาณสายการบินที่มาใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้น
การติดตั้งระบบ CUPPS นอกจากจะช่วยเสริมสร้างการให้บริการที่ได้มาตรฐานระดับโลกแก่ท่าอากาศยานให้มีความทันสมัยทัดเทียมท่าอากาศยานชั้นนำในต่างประเทศ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินงานของสายการบิน เพราะระบบ CUPPS เป็นระบบที่รองรับการใช้งานแบบแพลตฟอร์มร่วม Common Use Platform ซึ่งทุกสายการบินสามารถเชื่อมต่อระบบเพื่อเข้าสู่การใช้งานระบบของตนเองได้โดยง่ายจาก CUPPS Work-station ในทุกๆ จุด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการรองรับผู้โดยสารของสายการบิน เช่น สามารถเพิ่มเคาน์เตอร์ในการให้บริการได้ทันที ลดเวลาการรอคอยของผู้โดยสารในการเช็กอิน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านโครงข่ายระบบสารสนเทศ (IT Infrastructure) ในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลระดับสูงและมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาการใช้งานระบบตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายจง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “สามารถคอมเทค หนึ่งในสายธุรกิจ ICT Solutions ของกลุ่มบริษัทสามารถเทลคอม ได้เข้าไปพัฒนาและติดตั้งระบบเช็กอินผู้โดยสาร (CUTE) และระบบงานไอที หรือ Airport Information Management System (AIMS) ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความยากและซับซ้อน มากว่า 10 ปี ทำให้เรามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในระบบงานดังกล่าว อีกทั้งได้รับเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายหลัก ในการขายและให้บริการด้าน Airport Operation Solutions จาก SITA ผู้นำในด้านการให้บริการระบบสื่อสารขนส่งทางอากาศและเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ทำให้สามารถคอมเทคได้เรียนรู้ระบบการทำงานกับพันธมิตรระดับโลก รวมถึงได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เรามีความพร้อมที่จะรุกตลาดทางด้านการวางระบบให้กับสนามบินทั่วประเทศ และนี่จึงเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจด้าน Airport Solutions ของกลุ่มสามารถเทลคอม ซึ่งด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของพนักงาน บวกกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เราจึงมั่นใจว่า จะสามารถให้บริการที่ตอบโจทย์ และได้รับการยอมรับจากสนามบินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค” นายจง กล่าว