ส.อ.ท.บี้ตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ขีดเส้นนักการเมืองทำให้ชัดเจนภายในสัปดาห์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส.อ.ท.บี้ตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ขีดเส้นนักการเมืองทำให้ชัดเจนภายในสัปดาห์

Date Time: 24 พ.ค. 2562 09:30 น.

Summary

  • ส.อ.ท.กังวลสารพัดปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจ ทั้งการเมือง ภัยแล้ง สงครามการค้า ขีดเส้นให้นักการเมืองรีบจัดตั้งรัฐบาลให้ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นลดลงแบบไม่เคยเห็นมาก่อน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ส.อ.ท.กังวลสารพัดปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจ ทั้งการเมือง ภัยแล้ง สงครามการค้า ขีดเส้นให้นักการเมืองรีบจัดตั้งรัฐบาลให้ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นลดลงแบบไม่เคยเห็นมาก่อน กระตุ้นกระทรวงเศรษฐกิจตั้งวอร์รูมรับมือสงครามการค้า เผยเดือน มิ.ย.นี้ กกร.จะ ประชุมปรับลดเป้าจีดีพีและส่งออก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอยู่ที่ระดับ 95 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 96.3 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากสมาชิก ส.อ.ท.กังวลปัญหาการเมืองในประเทศ และต้องการให้มีการเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในสัปดาห์หน้า เพราะหากยังไม่ทราบผลว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาล ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน สมาชิก ส.อ.ท.ยังแสดงความวิตกกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง และอีกสาเหตุที่ดัชนีอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ลดลง เพราะผู้ประกอบการ ได้เร่งกำลังการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมไปตั้งแต่เดือน มี.ค. เพราะเดือน เม.ย. มีวันหยุดตามเทศกาลและวันหยุดชดเชยหลายวัน ส่วนดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับตัวลดลงอยู่ที่ ระดับ 101.9 ลดลงจากเดือนก่อนที่คาดการณ์อยู่ที่ ระดับ 104.2 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
“ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือน เม.ย. ที่ลดลง

ครั้งนี้ ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นการลดลง ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นที่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เน้นตลาดในประเทศ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ตามขนาดผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง เล็กก็อ่อนไหว ตามภูมิภาคก็มีความเชื่อมั่นตกลงทั้งหมดทุก 5 ภูมิภาค เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก อีสาน ทำให้ดัชนีเดือน เม.ย.ออกมาลดลง ตลอดจนดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าก็ยังลดลงตามไปด้วย เป็นสถิติที่ไม่ค่อยสวย และน่ากังวล”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนว่า ครั้งนี้คือของจริงไม่ใช่การขู่ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ส.อ.ท.จึงคาดว่าปีนี้การส่งออกของประเทศไทยจะขยายตัวลดลงเหลือ 0-1% จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 3-5% ขณะที่อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 3.4-3.5% และหากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ที่มีมูลค่า 320,000 ล้านบาท จะยิ่งฉุดให้ส่งออกต่ำกว่า 0% อย่างแน่นอน

สำหรับการรับมือในขณะนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง มาทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ (War room) ขึ้นมาโดยเร็วที่สุด เพื่อทำหน้าที่แก้ไข ช่วยเหลือรายอุตสาหกรรมต่างๆอย่างไร

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านการลงทุนก็จะต้องวางแผนการลงทุนใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็มีการให้ สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ และปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีน 12% ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากึ่งวัตถุดิบ, ชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อการส่งออกและใช้ในประเทศ และมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯ 10% ส่งออกไปอาเซียน 25%

ดังนั้น ในเดือน มิ.ย.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะพิจารณาปรับเป้าหมายการส่งออก และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริง เพราะจะมีผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างแน่นอน ในเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไทยลดลงต่อเนื่อง และสิ่งที่ เรากังวลคือสินค้าที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่าถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกว่า 5,000 รายการที่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบอื่นๆ คือ สิ่งที่ประเทศไทยส่งออกไปจีนเพื่อให้จีนผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป

สำหรับการย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทยของจีน เรื่องนี้ประเทศไทยก็ต้องระวังเรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะจะมีผลต่อปัญหา สิ่งแวดล้อม เพราะเป้าหมายของไทย คือต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น รัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการลงทุน ต้องระมัดระวังดูแลไม่ให้การย้ายฐานการผลิตของจีนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสวมสิทธิผลิตสินค้าส่งออกไปขายสหรัฐฯ ต้องมีไม่มากจนเกินไป มิฉะนั้นสหรัฐฯอาจพิจารณาตอบโต้ทางการค้ากับไทยได้ หากลำดับของไทยมีดุลการค้าที่มากขึ้น จึงเสี่ยงที่ไทยจะถูกกีดกันการค้าเช่นเดียวกับจีน เพราะปัจจุบันไทยมีการส่งสินค้าไปขายสหรัฐฯมากกว่านำเข้า ไทยจึงได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่แล้วและมากเป็นอันดับที่ 12.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ