จาก...ร่วมทุนรถไฟเร็วสูง หยิบชิ้นปลามันมักกะสัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จาก...ร่วมทุนรถไฟเร็วสูง หยิบชิ้นปลามันมักกะสัน

Date Time: 11 พ.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • การพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ถูกผนวกเข้ากับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี...

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

การพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ถูกผนวกเข้ากับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่นำ “ที่ดินมักกะสัน” มาเป็นเครื่องต่อรองให้เกิด “แรงจูงใจกับนักลงทุน” เข้ามาร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง

ทั้งที่เดิมที...พื้นที่นี้คือโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟทั่วประเทศ

โครงการนี้มีภาคเอกชนชนะการประมูลได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ “ทำเลทอง...ใจกลาง” ในที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์...

ส่วนต้นสายปลายเหตุ...ความเป็นมาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับที่ดินมักกะสัน มีการเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันนั้น สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีแนวคิดขยายเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออก ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ

สิ่งสำคัญเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ในพื้นที่เป้าหมายนำร่องใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

ต่อมา ครม.มีมติในวันที่ 28 มิ.ย.2559 เห็นชอบหลักการข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และการเติม 5 อุตสาหกรรมในอนาคต

ในตัวโครงการได้มีการออกแบบการขนส่งและการคมนาคมไว้อย่างครอบคลุม ทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ ทางน้ำ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ไทย มีแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2564 ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

ตามข้อมูลยังพบอีกว่า มีแผนพัฒนาด้านเส้นทางคมนาคม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐบาล คือ 1.ทางถนน ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา

2.ทางราง รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 3.ทางอากาศ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 4.พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลออกกฎหมายเฉพาะเพื่อให้แผนโครงการมีความรวดเร็ว กระชับ ชัดเจน และมีทิศทางมากขึ้น แต่ก็มีบุคคลหลายฝ่าย ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนี้

เพราะเอื้อประโยชน์ให้เอกสิทธิ์กับนักลงทุนมากมาย อาทิ การเช่าพื้นที่ดินขยายได้นานถึง 99 ปี สามารถเป็นเจ้าของอาคารชุด และนำเข้าแรงงานต่างด้าว มีทักษะได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านกฎหมายหลักที่มีอยู่

ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้แต่บทบัญญัติกฎหมายที่มีอยู่ของประเทศ หากเห็นว่าขัดกฎหมายเฉพาะ อีอีซีต้องถูกยกเว้นโดยปริยาย เพื่อให้โครงการขับเคลื่อนต่อไปได้

สาวิทย์ บอกอีกว่า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน...เกิดจากรัฐบาลมองว่าสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่จำกัดเกิดความแออัดคับแคบ เต็มไปด้วยผู้มาใช้บริการมากเกินไป ทำให้ไม่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ “อีอีซี” ที่จะมีนักธุรกิจและแรงงาน มาเสริมสนับสนุน

จึงต้องปรับโครงสร้างพัฒนาด้านคมนาคมใหม่...

มีแผนการเชื่อมเมืองกรุงเทพฯ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี จ.ชลบุรี ให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็ว จนเกิดแนวคิดส่งเสริมสนามบินอู่ตะเภา ในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544.36 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 1.40 ชม. ราคาค่าโดยสาร 476 บาท

และรัฐบาลส่งไม้ต่อให้...การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโครงการ และในช่วงปลายปี 2561 ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน มีผู้ซื้อซองประมูลราคาและสนใจซื้อเอกสารการคัดเลือก 31 ราย ต่อมามีผู้ยื่นซองข้อเสนอราคาประมูล 2 ราย จนได้ผู้ชนะการประมูลที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มเสนอขอรับ 196,934 ล้านบาท ถึง 52,707 ล้านบาท

ทว่าสิทธิประโยชน์ที่เอกชน “ชนะประมูล” จากการเข้าดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ บริหารรูปแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้สัมปทานบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีฐานคนใช้กว่า 8 หมื่นคนต่อวัน และมีโอกาสในการเดินรถต่อเฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา-ตราด

แต่สาระสำคัญคือ...มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินมักกะสัน ได้สัมปทานในการครอบครองพื้นที่มักกะสัน 100 ไร่ และพื้นที่รอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับมอบพื้นที่มักกะสันอีก 50 ไร่ ที่อยู่ติดกับโรงซ่อมบำรุงรถไฟ และพื้นที่เวนคืนอื่นๆ ให้กับเอกชนภายใน 5 ปี

สาเหตุที่ที่ดินมักกะสันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี เพราะมีการประเมินกันว่า “การสร้างรถไฟความเร็วสูง...กว่าจะเกิดผลกำไร ต้องใช้เวลานาน...จากผลการลงทุนก่อสร้างมูลค่าสูง ส่งผลให้นักลงทุนไม่มีใครสนใจ” จนนำที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งที่ดินมักมะสัน ที่ดินศรีราชา เป็นตัวล่อสร้างแรงบันดาลใจ...ดึงดูด...ความสนใจ ให้นักลงทุนเข้ามาร่วมประมูล โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ใจกลางย่านธุรกิจ หรืออยู่ที่ใจกลางเมือง ถูกจับจ้องจากนักลงทุนขนาดใหญ่หวังเข้ามาลงทุนครอบครอง หาผลประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้อยู่แล้ว ผลก็คือทำให้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาประมูลโครงการอย่างล้นหลาม

ประเด็นสำคัญ...เมื่อที่ดินมักกะสันเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้ที่ดินมักกะสันถูกผนวกมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยปริยาย สามารถใช้กฎหมายของเศรษฐกิจพิเศษหลายฉบับ

ตอนนี้ได้รับรายงานว่าผู้ชนะประมูลได้สิทธิเช่าที่ดินของการรถไฟฯ 50 ปี และกำลังพยายามต่อรองเพิ่มเติม จากการใช้ข้อกฎหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ...ขยายเวลาเช่าอีกยาวๆเป็น 99 ปี

ถ้าเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่การรถไฟฯให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินบริเวณพหลโยธิน บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อปี 2550 บนเนื้อที่ 47 ไร่เศษ สัญญาเช่า 20 ปี ในราคา 21,000 ล้านบาท ส่วนที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ มีพื้นที่มากกว่า 3 เท่า หากเอาราคาค่าเช่า 21,000 ล้านบาทเป็นตัวตั้ง คูณด้วย 3 ราคาค่าเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้าน คิดเป็นแบบช่วง ช่วงละ 20 ปี ก็ประมาณ 5 ช่วง 99 ปี จะเป็นเงินประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท

จับตาดูกันให้ดีๆในการให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่มักกะสันในเชิงพาณิชย์นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าการรถไฟฯได้รับผลตอบแทนอย่างไร ระยะเวลาใช้ประโยชน์ยาวนานกี่ปี และ...เป็นเพียงแค่เช่าที่ดิน หรือมีผลตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินในอัตราก้าวหน้าหรือไม่

เบื้องต้นพื้นที่ 150 ไร่ ตรงกับโรงงานมักกะสันแปลง A อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการซ่อมบำรุงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลต่อภารกิจหลักของการรถไฟฯ ในการให้บริการขนส่งทางรางกับประชาชน

การพัฒนาที่ดินมักกะสันของการรถไฟฯเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจหลัก ผู้ปฏิบัติงานไม่มีเจตนาขัดขวางการพัฒนา แต่ต้องไม่กระทบต่อภารกิจหลักของการรถไฟฯ และผลประโยชน์ของประเทศชาติ...

ค่าเช่าที่ดิน 5.2 หมื่นล้านบาท ในเวลา 50 ปี หรืออาจขยาย 99 ปี คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ไม่มีใครรู้

แต่สิ่งสำคัญการดำเนินงานต้องโปร่งใส ตรงไป...ตรงมา เพราะมีบทเรียนอันยิ่งใหญ่ของโครงการโฮปเวลล์ ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล...หวังว่าคงไม่ผิดพลาดซ้ำรอย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ