เปิดโลกธุรกิจ GC กับวิถี Circular Living หมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน พร้อมจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหนุนใช้พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้...
ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างตื่นตัวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน โดยหลักการหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในการนำมาปฏิบัติในองค์กร คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจใหม่ที่เน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบตามหลัก 5Rs คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การแปรรูปมาใช้ใหม่ (Recycle) การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Renewable) และการปฏิเสธการใช้ (Refuse)
ตัวอย่างธุรกิจแบรนด์ดังระดับโลกที่ได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาดำเนินธุรกิจ อาทิ Timberland แบรนด์รองเท้าชื่อดัง ที่มีไอเดียนำการใช้ยาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตรองเท้าและยางรถยนต์มาใช้อย่างคุ้มค่า โดยร่วมมือกับ Omni United บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ที่ออกแบบยางรถยนต์จากยางที่รีไซเคิลได้ เมื่อผ่านการใช้งานจนเสื่อมสภาพ ยางรถยนต์ทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานของ Timberland เพื่อนำมาผลิตเป็นพื้นรองเท้า ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวงจรชีวิตของยางได้อย่างคุ้มค่า เช่นเดียวกับแบรนด์รองเท้ากีฬายอดนิยมอย่าง Adidas ที่ได้ร่วมมือกับ Parley for the Oceans องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูสภาพของท้องทะเล นำพลาสติกจากชายฝั่งทะเลมาออกแบบเป็นรองเท้าสำหรับวิ่ง อีกทั้งยังนำยางรถยนต์รีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของพื้นรองเท้าด้วยเช่นกัน
ขณะที่ประเทศไทยตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ คอลเลคชั่นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋าแฟชั่นจากขยะขวดพลาสติกในทะเลไทยจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ซึ่งร่วมมือโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยการส่งเสริมการเก็บขยะพลาสติกประเภทขวด PET และพลาสติกประเภท PE ในทะเลและชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋าที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย GC มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการบริหาร Circular Living ที่ GC มุ่งเน้นการเป็นต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืน โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารทรัพยากร (Resources) 2. การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) 3. การบริโภคและการนำไปใช้ (Consumption & Use) ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูง และ 4. การบริหารจัดการขยะ (Waste Management)
การบริหารทรัพยากร (Resources) GC มุ่งลดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ การเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนมากขึ้น โดยริเริ่มพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (SWRO) โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้น้ำจืดจากภายนอกได้ถึง 7.23 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็นและการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งปี พ.ศ. 2561 บริษัทฯ สามารถใช้น้ำหมุนเวียนและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 8.08 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น
การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) GC ดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยยึดหลัก 5Rs (Reduce การลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่, Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้สารอันตรายด้วยการเลือกใช้สารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) อาทิ โครงการลดปริมาณของเสียอันตรายไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ 113 เกรดผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้ได้การรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และ 60 เกรดผลิตภัณฑ์ ได้รับการรับรองเครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากลดโลกร้อน เป็นต้น
ส่วนการบริโภคและการนำไปใช้ (Consumption & Use) GC ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทฯ ได้พัฒนาเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ(LDPE) เพื่อขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางที่ลดการใช้วัตถุดิบแต่ไม่ลดคุณภาพ รักษาคุณสมบัติเด่นด้านการทนความร้อน ความแข็งแรง และความใส ลดต้นทุนการผลิตกว่า 2 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ กว่า 140 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น
ด้านการบริหารจัดการขยะ (Waste Management) บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single Used Plastic) เช่น ถุงช็อปปิ้ง จำนวน 150,000 ตันต่อปี ให้เหลือ 0 ตันต่อปี ภายใน 5 ปี เพื่อมุ่งสู่ตลาดไบโอพลาสติก ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ รูปแบบต่างๆ การ Upcycling ด้วยการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดย GC ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายสถาบันในการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ อาทิ
โครงการ Chula Zero Waste ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่หรือ BioPBS มาผลิตเป็น แก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ 100% มาใช้ในจุฬาฯ โครงการ Be Smart Be Green ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS ผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ GC ยังมุ่งดำเนินธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastic) โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงงานรีไซเคิล พลาสติกครบวงจรมาตรฐานสากลระดับโลก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง
ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทาง Circular Living ที่ GC ได้ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมหลายด้าน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทก้าวสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็นนวัตกรรม (Circular Innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุดอันจะนำมาซึ่งการมีทรัพยากรที่มั่งคั่งให้กับลูกหลานของเราในอนาคต.