เปิดศักราชใหม่ ยกกู้กันเองนอกระบบมาไว้ในระบบ ธปท.เปิดให้บุคคลธรรมดาให้กู้บุคคลธรรมดาผ่านตัวกลางเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ “เว็บไซต์หรือ ผ่านตัวกลางออนไลน์แอปพลิเคชัน” ช่วยรายย่อยมีทางเลือกกู้เงินมากขึ้น คนมีสตางค์มีที่ลงทุนเพิ่มไม่ได้ไปลงทุนเสี่ยงหาผลตอบแทนสูงๆ โดยกำหนดเงื่อนไขเข้มเพื่อความมั่นคงปลอดภัยผู้ที่จะให้บริการเป็นตัวกลางต้องผ่านการทดสอบของ ธปท.ก่อน จึงจะมีสิทธิขอใบอนุญาต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ประกอบกิจการสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล โดยผ่านระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ peer to peer lending platform โดยประเมินว่า การประกอบธุรกิจดังกล่าวจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินได้หลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการเข้าถึงแหล่งทุน หรือสินเชื่อของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายย่อย ขณะเดียวกัน ในด้านของคนลงทุน ในช่วงที่ผ่านมามีการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ๆที่ได้ผลตอบแทนสูงๆมากขึ้น ซึ่งบางประเภทเป็นการลงทุนที่มี ความเสี่ยงสูง และในหลายประเทศได้ใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาช่องทางในการจัดหาเงินทุนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเป็นตัวกลางการให้กู้ยืมเงินผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ทั้ง
การออกตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือการให้กู้ยืมระหว่างบุคคล
อย่างไรก็ตาม แม้ ธปท.เห็นว่า ธุรกิจดังกล่าวเป็นประโยชน์ ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นของผู้กู้รายย่อย ขณะที่ผู้ให้กู้ มีทางเลือกใหม่ที่จะนำเงินมาลงทุนให้กู้ผ่านตัวกลาง โดยได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลผู้ให้บริการตัวกลางดังกล่าวให้มีระบบงานที่มั่นคง มีเสถียรภาพ ให้ความสำคัญที่จะคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งผู้กู้ และผู้ให้กู้ มีการคัดกรองผู้กู้ และผู้ให้กู้ และประเมินความเสี่ยงของผู้ให้กู้อย่างเพียงพอ รวมถึงมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนอย่างเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้กู้จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ขณะที่สินเชื่อที่จะให้กู้ยืม ในช่วงแรกควรเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นหนี้เสีย เช่น สินเชื่อโครงการธุรกิจที่มีแนวทางการประกอบธุรกิจและแหล่งรายได้ในการชำระหนี้ที่ชัดเจน หรือสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยกู้ได้ 1.5-5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
นอกจากนั้น ธปท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ โดย 1. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้เฉพาะการเป็นช่องทางหรือตัวกลางในการให้สินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องมีคุณสมบัติและมีระบบงานรองรับการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนด เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งในประเทศไทย มีทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีคนไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 75% มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรม และมีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนอย่างเหมาะสม
2.ผู้ประกอบธุรกิจต้องประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ โดยคำนึงถึงภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศ ควรมีคำเตือนให้ผู้กู้ตระหนักถึงการก่อภาระหนี้สินที่ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ของตน และผู้ให้กู้ต้องทราบถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างชัดเจนเพียงพอ รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้สินเชื่ออย่างชัดเจน
3.ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการรายงานข้อมูลผลประกอบการ รายงานเกี่ยวกับการให้บริการ รายงานข้อมูลและสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ และรายงานเหตุการณ์ที่สำคัญตามที่ ธปท. กำหนด และ 4.ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจต้องเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) จนประสบความสำเร็จและพร้อมให้บริการในวงกว้างในประเทศไทยก่อนจึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่าน ธปท.ได้.