เคาะมาตรการคุมยาแพง สั่งรพ.เปิดเผยราคา ดูแลผู้บริโภคถูกขูดเลือด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เคาะมาตรการคุมยาแพง สั่งรพ.เปิดเผยราคา ดูแลผู้บริโภคถูกขูดเลือด

Date Time: 7 พ.ค. 2562 17:58 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • เคาะแล้วมาตรการกำกับดูแลยา ชง "กกร." 10 พ.ค. สั่งรพ.เอกชน ปิดป้ายแสดงราคา-เผยแพร่บนเว็บ และเปิดทางให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อยาได้เอง จ่อดูแลผู้บริโภคทุกจังหวัด ถูกโขกราคาเกินจริง

Latest


เคาะแล้วมาตรการกำกับดูแลยา ชง "กกร." 10 พ.ค. สั่งรพ.เอกชน ปิดป้ายแสดงราคา-เผยแพร่บนเว็บ และเปิดทางให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อยาได้เอง จ่อดูแลผู้บริโภคทุกจังหวัด ถูกโขกราคาเกินจริง...

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลโครงสร้างต้นทุน ตามที่คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ได้เสนอ โดยมีผลการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน พบว่า โรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนยาใกล้เคียงกัน แต่มีราคาจำหน่ายแตกต่างกันมาก แม้เป็นยาชนิดเดียวกัน โดยมีกำไรตั้งแต่ไม่มากไปจนสูงถึง 300%, 500%, 800% และ 900%

"เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนได้แล้ว จะกำหนดมาตรการกำกับดูแลต่อไป ภายใต้หลักเป็นธรรมกับทั้งผู้ประกอบการและผู้ป่วย, ให้ผู้ป่วยมีทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง และได้รับการรักษาที่สมเหตุสมผล รวมถึงจะยึดตามกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ที่จะใช้กำกับดูแลได้ หากกกร.เห็นชอบ จะออกเป็นประกาศ กกร.ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย"

สำหรับมาตรการที่จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กก.) พิจารณาเห็นชอบในการประชุมวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเป็นมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์สามารถบังคับใช้ได้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น กำหนดให้ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เปิดเผยทั้งที่เป็นกระดาษ และทางอิเล็กทรอนิกส์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ และหากมีการจำหน่ายเกินราคา จะมีโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุน จัดทำฐานข้อมูลของเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเช่นเดียวกับข้อมูลยา ที่ได้ขอข้อมูลราคาซื้อ ขาย นำเข้าจากโรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิตผู้นำเข้า และร้านขายยารายใหญ่มาแล้ว เพราะปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ที่ชัดเจน โดยปัจจุบันมีข้อมูลเวชภัณฑ์ 868 รายการ และบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ

ด้าน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า มาตรการที่คณะอนุกรรมการ ได้พิจารณา และจะนำเสนอให้ กกร. พิจารณาวันที่ 10 พ.ค. โดยการกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนเผยแพร่ราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาล และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และให้โรงพยาบาลยอมให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้ โดยในใบสั่งยา แพทย์ต้องเขียนชื่อยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ได้มีการเสนอให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมในการดูแลผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลให้ความเป็นธรรมบริการทางการแพทย์ ซึ่งในส่วนกลางมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่ในการดูแลและให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคกรณีรักษาในโรงพยาบาลแล้วถูกคิดค่ายา ค่ารักษาสูงเกินจริง เช่น ปวดท้อง ปวดหัว แต่โรงพยาบาลให้ทำซีทีสแกน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามาก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ