จับตา 7 พ.ค. ประชุมอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์ ชง "กกร." ไฟเขียว 10 พ.ค.นี้ ก่อนออกประกาศบังคับใช้ต่อไป ลั่นโรงพยาบาลใดไม่ทำตาม มีโทษทั้งจำและปรับ...
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า วันที่ 7 พ.ค.นี้ จะประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยจะพิจารณาโครงสร้างต้นทุนราคายา ตามที่คณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคา ที่มีตนเป็นประธาน เสนอ หลังจากที่คณะทำงานได้ขอราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า จากโรงพยาบาลเอกชน ผู้ผลิตและผู้นำเข้า รวมถึงร้านขายยารายใหญ่รวมกันกว่า 1,000 ราย คิดเป็นยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์กว่า 10,000 รายการ และนำมาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนเสร็จแล้ว พร้อมกันนั้น จะเสนอมาตรการกำกับดูแลสินค้าและบริการดังกล่าว และข้อเสนอของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องการให้ภาครัฐดูแล
สำหรับมาตรการที่จะนำเสนอ เช่น จะกำหนดให้โรงพยาบาลเผยแพร่ราคายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ทางเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ และโรงพยาบาลต้องให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้ โดยในใบสั่งยา แพทย์ต้องเขียนชื่อยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อทางการค้า และชื่อทางวิทยาศาสตร์
"เมื่อคณะอนุกรรมการเห็นชอบมาตรการ ตามที่เสนอ กรมในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะทำเรื่องเสนอให้ กกร. ที่มี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์และรักษาการ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติในการประชุมวันที่ 10 พ.ค.นี้ หาก กกร.เห็นชอบ ก็จะออกเป็นประกาศ กกร. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 หากโรงพยาบาลใดไม่ดำเนินการตาม จะมีโทษทั้งจำและปรับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากกรมการค้าภายใน ทำหนังสือชี้แจงศาลปกครอง เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ฟ้องร้อง ขอให้คุ้มครองชั่วคราวคำสั่ง กกร. ที่นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุมปี 62 นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ค. กรมได้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมไปยังศาลปกครอง เพราะสมาคมได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปให้ศาลอีก โดยสมาคมระบุว่า การออกประกาศ กกร.คุมยา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นดุลพินิจฝ่ายเดียว ทำให้ราคาหุ้นของโรงพยาบาลตกต่ำ ผู้ประกอบวิชาชีพขาดเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ และกระทบต่อดุลพินิจของแพทย์ในการวินัจฉัยโรค
ส่วนหนังสือของกรมได้ชี้แจงว่า ประกาศของ กกร. เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ, กรรมการใน กกร.ไม่ได้มีเฉพาะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีก และการออกมาตรการกำกับดูแล ไม่ได้เป็นการใช้ดุลพินิจแต่ฝ่ายเดียว เพราะ กกร.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยา และตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคายา เพื่อศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนจะออกมาตรการกำกับดูแล
ขณะที่ราคาหุ้นลดลง ชี้แจงว่า การขึ้นลงของราคาหุ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไว้วางใจในการประกอบธุรกิจ ความโปร่งใส และการมีธรรมาภิบาล และแพทย์ยังคงจ่ายยาได้ตามวิชาชีพ ตามความร้ายแรงของโรค เพราะประกาศ กกร.ไม่ได้ห้ามการจ่ายยา หรือห้ามการรักษา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นเพียงแค่ศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคา เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพียงใด จะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการรักษา แต่จากข้อมูลราคาที่กรมได้จากโรงพยาบาลเอกชน พบว่าบางรายมีกำไรจากยาบางชนิด 200-300% ยาบางชนิด 400-500% ซึ่งมุ่งกำไรจนเกินควร และยังอธิบายเหตุผลการคิดราคายาสูงเกินจริงไม่ได้.