ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. ร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 2 ต่ำสุดรอบหลายเดือน กังวลเสถียรภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง ทำคนระวังใช้จ่าย ไม่กล้าซื้อรถ-บ้านใหม่ หวั่นประกาศรายชื่อส.ส.และเลือกนายกฯไม่ได้ ฉุดเศรษฐกิจกราวรูด...
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเม.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 79.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งในเดือนเม.ย.62 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 58 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค.57 โดยดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ 75.6 จากระดับ 80.5 ส่งผลให้ประชาชนระวัดระวังการจับจ่ายใช้สอยและชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพ.ค.ถึง มิ.ย.
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อดัชนีภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวลดลง ทำให้คนไม่กล้าซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ หรือใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 3.2-3.3 % ส่วนมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงิน ประมาณ 20,000 ล้านบาท อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใน ไตรมาส 2 ประมาณ 0.3% ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ 3.8% โดยพิจารณาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการ และนำไปสู่การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนมิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม หากการประกาศรายชื่อ ส.ส.อย่างเป็นทางการยังเกิดขึ้นไม่ได้ และไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หรือมีการออกมาชุมนุมประท้วง จะส่งผลต่อกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือเพียง 3.5% หรือต่ำกว่านั้นได้ และมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีมีถึง 95% เพราะจะมีเสียง 375 เสียง จากจำนวน ส.ว.ที่มาผสม
"แต่จำนวนที่นั่งในสภา พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลผสมที่มี ส.ส.ในสภาเกิน 250 หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน สะท้อนความมั่นคงและการทำงานของรัฐบาล และจะสะท้อนการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย เพราะเสถียรภาพรัฐบาลมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย และการลงทุน ถ้ารัฐบาลเสียงปริ่มเกิน 250 ไม่มาก แต่ทำงานด้วยความเข้มแข็งและบริหารได้ ความเชื่อมั่นก็กลับมาได้"