ประธาน บอร์ด รฟท. สั่งตั้งทีมทำงานสางปัญหาค่าโง่ “โฮปเวลล์” พร้อมสั่งฝ่ายบริหาร รวบรวมข้อมูลย้อนหลังโครงการ 26 ปี ยอมรับปัญหาค่าโง่กระทบแผนฟื้นฟูกิจการ ด้านรถไฟคาด “ค่าโง่โฮปเวลล์” 2.5 หมื่นล้านบาท เร่งจ่ายคืนใน 180 วันตามคำตัดสินศาล วอนขอ “รัฐบาล-คมนาคม” ช่วยจ่ายเงินชดเชย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (บอร์ด รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟท. ว่า บอร์ด รฟท.ได้พิจารณาเรื่องคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ โดย รฟท.ได้รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างปี 34-7 ต.ค. 40 ให้บอร์ดรับทราบ จากนั้นที่ประชุมบอร์ดจึงมีมติให้ รฟท. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงคมนาคม ในการหาแนวทางปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ดีที่สุดและรัฐเสียประโยชน์น้อยที่สุด นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ขอให้ฝ่ายบริหาร หาข้อมูลเกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ให้มากที่สุด เพื่อใช้รองรับการพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลา 26 ปีแล้ว
ทั้งนี้คณะทำงานจะตั้งขึ้นมาเพื่อดูแนวทางปฏิบัติและข้อกฎหมายต่างๆ ภายหลังศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษา ให้ภาครัฐ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน
นายกุลิศ กล่าวว่า แม้ปัญหาโครงการโฮปเวลล์ จะเป็นประเด็นที่บอร์ด รฟท. ชุดปัจจุบัน ไม่เคยทราบมาก่อน แต่ก็พร้อมจะเดินหน้าสางปัญหา และดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของภาครัฐ เป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้นจึงได้สั่งการให้มีการตั้งทีมทำงานขึ้นหนึ่งชุด เพื่อดำเนินการ ตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนดมาภายใน 180 วัน โดยทีมงานจะประกอบด้วย บอร์ด รฟท., นายวรวุฒิ มาลารักษาการผู้ว่า รฟท. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงบประมาณ, กรมบัญชีกลาง เข้าร่วม รวมทั้งได้สั่งการให้มีการรวบรวมข้อมูลของโครงการย้อนหลัง 26 ปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ด้วย
ส่วนตัวเลขที่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามคำพิพากษาของศาล จะเป็น 25,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น จะไม่ขอพูดถึงตัวเลขเงินชดเชยในขณะนี้เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียด หากมีการพูดไป และปรากฏว่าเป็นตัวเลขที่มากหรือน้อยเกินไปก็จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ส่วนการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโครงการในขณะนั้นอาจเอาผิดย้อนหลัง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วยเนื่องจากบางคนเข้ามาในช่วงที่โครงการจบแล้ว
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องมีการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้ง รฟท. อัยการ และกระทรวงคมนาคมและในวันจันทร์ที่จะถึงนี้จะมีการรายงานมติบอร์ดที่ได้ข้อสรุปในวันนี้ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคมรับทราบด้านแนวทางจ่ายค่าชดเชยก็เป็นไปได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายด้วยเงินสดหรือให้สิทธิ์โฮปเวลล์เข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฯ โดยต้องรอให้คณะทำงานสรุปแนวทางก่อน จึงจะไปเจรจาหรือประนอมหนี้กับ โฮปเวลล์ต่อไป
ด้านนายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการ กลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า การพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยแก่โฮปเวลล์ หลักๆจะพิจารณามใน 3 ประเด็น คือ 1.วงเงินค่าชดเชยทั้งหมด, 2.ใครจะต้องรับผิดชอบค่าชดเชยบ้าง และจ่ายในสัดส่วนเท่าใด และ 3.กำหนดท่าทีในการเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ เพื่อขอลดหย่อนค่าชดเชยบางรายที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหาร รฟท.ได้สรุปตัวเลขค่าชดเชยไว้แล้วโดยล่าสุดวงเงินค่าชดเชยทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาทและดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาทสำหรับวงเงินดังกล่าวแตกต่างจากตัวเลขที่มีผู้คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ ว่าอาจจะสูงถึง 50,000-60,000 ล้านบาท เนื่องจากระยะเวลาการคำนวณอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน เช่น ค่าก่อสร้างได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในปี 51 ไม่ใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญาในปี 40-41 หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมธนาคารก็คิดให้ดอกเบี้ยแค่ 5 ปีเท่านั้น
สำหรับผู้รับผิดชอบค่าชดเชยควรมีทั้งหมด 3 ส่วน คือ รัฐบาล, กระทรวงคมนาคม และ รฟท. โดยทาง รฟท.เห็นว่าควรจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดแก่ โฮปเวลล์ ภายใน 180 วันตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เพื่อแสดงความเคารพต่อคำตัดสินของศาล และล่าสุดก็ได้หารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยสหภาพฯ เข้าใจ.