นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 หรือกฎหมายอีเพย์เมนต์ (e-payment) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 โดยสนใจเฉพาะประเด็นเรื่องโอนเงิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้ง ยอดรวม 2 ล้านบาท จะถูกตรวจสอบภาษี เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่จุดประสงค์ของร่างกฎหมายฉบับนี้
“จุดประสงค์หลักของกฎหมายอีเพย์เมนต์ คือ กรมอยากทำแบบประเทศสิงคโปร์ ซึ่งให้อำนาจกรมสรรพากรในการขอข้อมูลจากธนาคารได้เลย ในส่วนข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเจ้าของบัญชี จากเดิมธนาคารจะต้องออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่ จ่าย ให้กับผู้เสียภาษี เพื่อให้นำไปเป็นหลักฐานกับกรมว่าได้ถูกหักภาษีไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก”
นอกจากนั้น ในเดือน มิ.ย.2562 นี้ หลังจากกรมได้เงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จากกระทรวงการคลัง เพื่อวางระบบในการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายอีเพย์เมนต์แล้ว จะเปิดตัวบริการดิจิทัลสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT Digital Services) โดยผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีและชำระภาษีออนไลน์บนระบบ (e-Filing) ได้ เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการ (Service Standard) ให้ดีขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) โดยหากใครใช้เงินสดมากอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนใครที่ทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ จะจัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าดี โดยจะใช้ข้อมูลจาก Data Analysis เป็นตัวคัดกรองนิติบุคคลที่มีในระบบประมาณ 400,000 ราย เพื่อตรวจสอบคนที่หลบเลี่ยงภาษีในสายอาชีพต่างๆ อาทิ พ่อค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมจะเร่งผลักดันกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากปัจจุบันเกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจต่างประเทศและในประเทศ โดยกฎหมายนี้จะทำให้บริษัทใดก็ตาม ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยต้องถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) “ตอนนี้ทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกันคือแพลตฟอร์มต่างประเทศเข้ามาหากินและหอบเงินออกไปหมด ไทยจึงต้องเร่งผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้บริษัทต่างชาติใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจในไทยได้เข้ามาหารือกับกรมแล้ว และในเบื้องต้นยินดีทำตามกฎหมาย”.