ทุ่ม 2 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ คลังเร่งออกมาตรการหลังพบสัญญาณชะลอตัว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทุ่ม 2 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ คลังเร่งออกมาตรการหลังพบสัญญาณชะลอตัว

Date Time: 20 เม.ย. 2562 06:01 น.

Summary

  • “สมคิด” กังวลจีดีพีไตรมาส 2 มีสัญญาณชะลอตัว หลังการเมืองไทยไม่นิ่ง รีบหารือคลังออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนที่เหลือ ก่อนมีรัฐบาลใหม่

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“สมคิด” กังวลจีดีพีไตรมาส 2 มีสัญญาณชะลอตัว หลังการเมืองไทยไม่นิ่ง รีบหารือคลังออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนที่เหลือ ก่อนมีรัฐบาลใหม่ ด้านคลังเล็งทุ่มงบ 20,000 ล้านบาท ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเงินใส่บัตรคนจน ซื้อเสื้อผ้า-หนังสือเรียน-ชุดกีฬา ก่อนเปิดเทอม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ว่า ขณะนี้การเลือกตั้งได้ผ่านไปแล้ว และคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเหมือนเดิม ส่งผลให้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ส่วนการทำงานของรัฐบาลนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ก่อนจะมีรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ไตรมาส 2 ของปี 62 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป ก่อนรัฐบาลใหม่จะเข้ามาดูแล

“ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คลังมีบทบาทช่วยให้เศรษฐกิจโต สร้างสิ่งใหม่ๆ กับระบบการเงินการคลังของประเทศ และมาครั้งนี้เพื่อมาฟังสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และหารือมาตรการต่างๆ ไม่ให้ขาดตอน ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า 2 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ก.พ.) ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีอากรที่ทำได้เกินเป้า อีกทั้งไทยยังเป็นจุดศูนย์กลางของการลงทุนของภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนต่อมา (มี.ค.-เม.ย.) ซึ่งเข้าสู่การเลือกตั้ง ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ประชาชนมีความกังวล และการลงทุนชะลอตัวเพราะความไม่แน่นอนของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่าเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปีนี้ หากสถานการณ์การเมืองชัดเจนขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะดีขึ้นไปด้วย ขณะที่จีดีพีของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหรือไม่นั้น จะต้องดูว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนได้มากแค่ไหน

“มาตรการที่เสนอจะต้องมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจพอสมควร และมาตรการต่างๆ ต้องเกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว การใช้จ่าย การช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน และอสังหาริมทรัพย์ โดยผมมอบหมายให้อธิบดีกรมต่างๆ เร่งเสนอมาตรการต่างๆ ต่อกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์”

นอกจากนี้ ในเรื่องการค้าขายออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าจำนวนมากขึ้น ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรตามจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์เหล่านี้ให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้และไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ว่าผู้ค้าเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด ดังนั้น จึงอยากให้เร่งผลักดันกฎหมายการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ให้เกิดการบังคับใช้โดยเร็ว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เผยว่า สศค.มองว่าไตรมาสที่ 1- 2 ของปี 62 เศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น คลังจึงเตรียมจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ตกต่ำผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ สนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ให้นำค่าที่พัก ค่ารถมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หลังจากมาตรการนี้หมดอายุเมื่อปี 61 โดยครั้งนี้จะขยายให้ครอบคลุมถึงการท่องเที่ยวในเมืองหลักต่างๆด้วย

นอกจากนี้ จะออกมาตรการคล้ายกับช็อปช่วยชาติช่วงเดือน ธ.ค.61-ม.ค.62 ที่ผ่านมาที่นำรายจ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยครั้งนี้จะทำก่อนช่วงเปิดภาคเรียน และกำหนดสินค้าที่นำมาหักลดหย่อนภาษีต้องเป็นสินค้าเกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องใช้ อุปกรณ์กีฬา หนังสือเรียน เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของผู้มีรายได้น้อยจำนวน 11.4 ล้านคน ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน จะให้กรมบัญชีกลางใส่เงินลงไปในบัตร

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมบุคลากรของประเทศให้มีคุณภาพ คลังจะร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องการเรียนวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งสิทธิพิเศษจะเป็นอะไรนั้นอยู่ในช่วงหารือรายละเอียด ขณะที่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาคือ ผู้กู้เงินมีความ ต้องการจำนวนมากแต่ไม่สามารถกู้ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันเข้มงวดในการปล่อยกู้ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำชับสถาบันการเงินให้ระวัง ดังนั้น คลังจะให้ธนาคารของรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องเงินกู้แทน อาทิ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ