คสช.ปลดล็อกสายสีเขียว แก้สัมปทานเป็นระบบเดียว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คสช.ปลดล็อกสายสีเขียว แก้สัมปทานเป็นระบบเดียว

Date Time: 12 เม.ย. 2562 06:20 น.

Summary

  • คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดล็อกปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว สั่งกรุงเทพมหานครดำเนินการจ้างเอกชนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และให้ตั้งกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาสัมปทานใหม่

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%



ศาลสั่งห้ามปิดจราจรสายสีชมพู

คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดล็อกปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว สั่งกรุงเทพมหานครดำเนินการจ้างเอกชนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และให้ตั้งกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาสัมปทานใหม่ ด้านศาลปกครองพิพากษาห้าม รฟม.ปิดการจราจร ถ.แจ้งวัฒนะ สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหตุออกประกาศปิดจราจร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อแก้ปัญหาการดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-แบริ่ง ช่วงบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีปัญหาบูรณาการทั้งเรื่องการบริหารจัดการโครงการและการ บริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้า จำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครดําเนินการจ้างผู้ประกอบการ เอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และ ประหยัดค่าโดยสาร รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการ เดินรถ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการส่วนต่อขยายที่ 1

โดยให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็น ประธาน มาดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน จากนั้นเมื่อคณะกรรมการดําเนินการจนได้ข้อยุติ ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จใน 30 วัน หากไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานสาเหตุและผล ไปยังนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯอาจพิจารณาให้ขยายเวลาออกไปตามเห็นสมควรได้ โดยสัญญาร่วมลงทุนที่แก้ไขนี้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาด้วย หาก ครม.ไม่เห็นชอบ ให้ส่งเรื่องคืนไปยัง รมว.มหาดไทย เพื่อทบทวนก่อนเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อ ครม.เห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อไป

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ห้ามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยบริษัทซิโน-ไทยฯ กระทำด้วยประการใดๆในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรในพื้นราบทุกช่องทาง บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้น สะพาน ข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ หรือมีการออกประกาศ ข้อบังคับจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และให้ ผบช.น.ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในคดีที่ผู้ประกอบกิจการร้านลาลูน่า ยื่นฟ้อง รฟม.และ ผบช.น. ว่า ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราวบนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-31 ก.ค.2562 ระหว่าง 22.00-04.00 น. โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า สร้างความเดือดร้อนเสียหาย โดยศาลปกครองให้เหตุผลว่าหนังสือของ ผบช.น. เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ