“ออมสิน” สำรวจพบประชาชนฐานราก ใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ 16,130 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน หลังค่าครองชีพสูงขึ้น ชี้คนไทยนิยมทำบุญ-รดน้ำขอพรผู้ใหญ่มากสุด ด้านกรมการค้าภายในลุยตรวจปั๊มน้ำมันหวังให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน เติมน้ำมัน-ก๊าซได้เต็มลิตรไม่ถูกโกง ขณะที่ “พาณิชย์ลำพูน” ลงพื้นที่ตรวจการจำหน่ายสินค้า ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้สำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่างคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่ว ประเทศ 2,186 ตัวอย่าง พบว่าภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากช่วงสงกรานต์ราว 16,130 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3,670 บาท โดยเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยต่อคนปรับลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากคนฐานรากมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายกับปีก่อน พบว่าเกินกว่าครึ่งมีรายได้และรายจ่ายเท่าเดิม
โดยบางส่วนได้รับผลกระทบจากเทศกาลนี้ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ลดลง เนื่องจากไม่มีการจ้างงานหรือใช้บริการ
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาจับจ่ายใช้สอยช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่เกินครึ่งหรือ 67.4% มาจากรายได้ของตนเอง, เงินจากคนในครอบครัว 17.9%, เงินออม 10.4% เงินสวัสดิการจากภาครัฐ 3.3% และเงินกู้ยืม 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่ามีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินที่นำมาใช้จ่าย โดยมีการบริหารเงินร่วมกับคนในครอบครัวมากขึ้น และใช้เงินที่ได้จากสวัสดิการรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ลดลง ส่วนกิจกรรม 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากนิยม คือ 1.ทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 450 บาท 2.สังสรรค์เลี้ยงฉลองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,225 บาท 3.ให้เงินคนในครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,790 บาท
ทั้งนี้ ภาพรวมประชาชนฐานรากมีการทำกิจกรรมและใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายแต่ละกิจกรรมสูงขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นการซื้อของให้ตนเองและผู้อื่น และการท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละกิจกรรมลดลงและพบว่ามีการทำกิจกรรมสังสรรค์ เลี้ยงฉลองและเดินทางกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนของขวัญและของฝาก ส่วนใหญ่มีแผนที่จะซื้ออาหารและขนมมากที่สุด รองลงมาคือเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ตามด้วยผักหรือผลไม้ ส่วนบุคคลที่ต้องการให้ของขวัญหรือของฝากมากที่สุดคือ คนในครอบครัว รองลงมาคือผู้ใหญ่ที่เคารพและให้ตนเอง และเมื่อสำรวจยานพาหนะที่ประชาชนฐานรากเลือกใช้สำหรับเดินทาง อับดับแรก คือใช้รถยนต์ส่วนตัว รองลงมา คือรถบัสโดยสารประจำทางและรถตู้โดยสาร
ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังการตรวจสอบความถูกต้องของมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรวัดก๊าซ LPG, NGV ที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ว่า ช่วงสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวจำนวนมาก กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบมาตร-วัดน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันต่างๆ ตามเส้นทางการเดินรถที่เป็นรอยต่อของกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบความถูกต้องมาตรวัด และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และแนะนำให้ประชาชน สังเกตที่ตู้จ่ายน้ำมันก๊าซ LPG, NGV ตามสถานีบริการ ต้องมีสติกเกอร์วงกลมของกรมการค้าภายใน (มีรูปครุฑสีแดง/ระบุคำว่าตรวจสอบแล้ว/แสดงปี พ.ศ.อยู่ด้านล่าง) ซึ่งปี 62 สีของสติกเกอร์จะเป็นสีน้ำเงิน หากมีสติกเกอร์ติดอยู่แสดงว่าได้ตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ ก่อนเติมยอดขายและจำนวนลิตรต้องเป็นเลขศูนย์, ราคาขายต่อลิตรที่แสดงที่ตู้จ่ายกับป้ายแสดงต้องถูกต้องตรงกัน เมื่อเติมเสร็จให้ดูยอดขายและจำนวนลิตรให้ถูกต้อง หากพบการทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือสถานีบริการใดดัดแปลงมาตรวัดให้มีค่าความคลาดเคลื่อน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 120,000 บาท
ขณะที่ นายเมธี บัวพึ่ง พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานของจังหวัดลำพูน ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามนโยบายปลัดกระทรวงพาณิชย์ เน้นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ สถานีขนส่งรถยนต์โดยสารประจำทางและสถานที่จำหน่ายของฝากของที่ระลึก ในเขตอำเภอเมืองลำพูน เพื่อป้องปรามมิให้ผู้จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และผู้ให้บริการรับส่งผู้โดยสาร บริการรับฝากสิ่งของและบริการรถเข็น บริเวณสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาและไม่แสดงราคาจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจากผลการลงพื้นที่ สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ประกอบการยังจำหน่ายสินค้าราคายังคงปกติ.