นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้นำเงินค่าใช้จ่ายคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ช่วงวันที่ 16 ก.ย.-15 ธ.ค.61 เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 603.80 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณเบื้องต้นตามรายได้ขั้นตอนก่อน ถือเป็นรายแรกที่นำเงินมาจ่ายให้กับ กสทช. ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือประกาศเยียวยา โดยเป็นการนำเงินจากการใช้คลื่นความถี่ระหว่างรอการ ประมูลคลื่น หรือเรียกว่า ค่าใช้คลื่นความถี่ระหว่างรอการประมูลคลื่น
ส่วนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ยังไม่นำเงินมาชำระ เนื่องจากได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่าการคำนวณค่าใช้คลื่นความถี่ของ กสทช.ไม่เป็นธรรม ฉะนั้น ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตาม กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองต่อไป ทั้งนี้ กสทช.ได้คำนวณรายได้เสร็จสิ้นแล้ว พบว่าทรูมูฟจะต้องจ่ายค่าใช้คลื่นระหว่างการประมูลราว 3,382 ล้านบาท ดีพีซี 869 ล้านบาท และเอไอเอส 7,221 ล้านบาท
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ทำตามสัญญาที่เคยแจ้งไว้กับ กสทช.ว่า จะนำเงินมาชำระตามที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือเรียกเก็บมา เพื่อนำเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป วงเงิน 603.80 ล้านบาท โดยดีแทคได้ยึดมั่นในการทำเพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลักสำคัญตลอดมา พร้อมทั้งดูแลลูกค้าให้ได้บริการอย่างต่อเนื่อง และรักษาคุณภาพการให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานและประกาศของ กสทช.ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะออกคำสั่ง ม.44 เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์นั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการช่วยขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ก็จะทำให้เอกชนมีเม็ดเงินมาลงทุนขยายโครงข่ายโทรคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมการรองรับ 5 จี ในอนาคต.